นายคริส สุรเดชวิบูลย์ Management Consulting Partner บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง จำกัด (PwC) กล่าวว่า ในวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่มีโอกาสทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งทุกธุรกิจควรมีแผนรองรับกับสถานการณ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การดำเนินธุรกิจและการทำกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงักไปในบางธุรกิจ หรือบางธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการได้แต่ไม่สามารถทำกิจการได้เต็มที่
การสร้างแผนรองรับของภาคธุรกิจจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1. Protect ซึ่งเป็นการสร้างเกราะป้องกันในกับธุรกิจเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติเกิดขึ้น โดยมีสิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ กระแสเงินสด (Cash Flow) ที่ทุกธุรกิจควรสำรองไว้ให้เพียงพอหากเกิดปัญหาขึ้น เพราะกระแสเงินสดจะช่วยประคองธุรกิจให้สามารถอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ประกอบกับการมีกระแสเงินสดที่เพียงพอจะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้กับพนักงานขององค์กร ทำให้ธุรกิจยังสามารถมีเงินรองรับการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในองค์กรได้ และช่วยให้พนักงานสามารถดำรงชีพจนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ด้วย
2. Restore เป็นแผนการที่ธุรกิจควรจะต้องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าในช่วงที่เห็นการทรงตัวของวิกฤติแล้ว เพื่อเตรียมแผนในการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่หยุดพักไป หรือหลังจากช่วงที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ในส่วนนี้หากเป็นภาคการผลิตจะต้องเตรียมความพร้อมกับซัพพลายเออร์ไว้ล่วงหน้า เพื่อทำให้ในช่วงที่เริ่มกลับมาสามารถทำการผลิตได้ทันที ทำให้ธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
3. Rebound เป็นแผนงานที่เตรียมความพร้อมเมื่อภาคเศรษฐกิจต่างๆกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งหากมีการเตรียมตัวในช่วงเฟสที่ 2 ไว้เป็นอย่างดีแล้ว ในเฟสที่ 3 จะส่งผลให้ธุรกิจกลับมาเติบโตขึ้นได้แบบก้าวกระโดด และได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดมากขึ้น โดยที่การวางแผนงานในช่วงต่างๆจะต้อพิจารณาองค์ประกอบของธุรกิจให้ครบทั้ง Supply Chain เพื่อทำให้การทำงานไม่เกิดความติดขัดขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ
สำหรับธุรกิจที่ PwC มองว่าไม่ได้รับผลกระทบจากในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคและบริโภค รวมไปถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่มีความต้องการใช้ของคนในช่วงนี้เข้ามามาก
ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม บริการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มสินค้าประเภทเพชรและอัญมณีที่ไดรับผลกระทบ จากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะมีการล็อคดาวน์ประเทศไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจน้ำมันยังได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากว่า 50% และล่าสุดราคาซื้อขายสัญญาน้ำมันล่วงหน้าได้ปรับตัวลงติดลบ สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงมาก ในขณะที่ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีปริมาณที่สูง ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นกลับมาค่อนข้างนาน เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายและสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้จะต้องมีการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี