ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 63 จะหดตัว 5.6% แม้ว่าการส่งออกสินค้าอาหารคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดีจากอานิสงส์ความต้องการในตลาดโลก แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกโดยรวมลดลงไปด้วย ประกอบกับห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก จากการประกาศล็อกดาวน์ของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะหดตัว 5.6% แต่ถ้าเทียบมูลค่าเฉลี่ยรายเดือนที่ 19,371 ล้านดอลลาร์ฯ จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 59
วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนมี.ค. 63 อยู่ที่ 22,405 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผิดจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้ว่าจะหดตัว
โดยแรงหนุนการส่งออกสินค้าไทยในเดือนมี.ค. 63 มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนมี.ค. 63 หากหักการส่งออกทองคำแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัว 0.2% YoY
การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่กลับมาขยายตัวดีที่ 8.6% YoY ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการเป็นตลาดส่งออก Hard Disk Drive (HDD) ทดแทนจีนที่ปิดโรงงานการผลิตชั่วคราวในช่วงเดือนก.พ. 63 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะขยายตัวดีในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จากการปิดโรงงานการผลิตชั่วคราวของจีนและความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นจากการ Work from Home หลังหลายประเทศทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีแนวโน้มจะกลับมาหดตัว หลังปัจจัยชั่วคราวหมดไป
ปัจจัยชั่วคราวอย่างการเหลื่อมเดือนของการส่งคืนอาวุธยุทธปัจจัย รวมถึงรถถังและยานรบหุ้มเกราะที่นำเข้ามาในเดือนก.พ. 63 เพื่อฝึกร่วมผสมทางทหารระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 6 มี.ค. 63
"การส่งออกสินค้าไทยที่กลับมาขยายตัวในเดือนมี.ค. 2563 ช่วยหนุนภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/63 ให้ขยายตัวเป็นบวก ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยช่วงไตรมาสที่ 1/63 หดตัว 1.9% จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1/63 ยังคงเกินดุลที่ 3,933.7 ล้านดอลลาร์ฯ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ