COVID-19สภาพัฒน์เผยผลสำรวจภาคธุรกิจ-ประชาชนส่วนใหญ่ เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา เหตุติดเงื่อนไข

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2020 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สภาพัฒน์ได้เสนอรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมรับทราบ ถึงผลสำรวจข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากกลุ่มเป้าหมาย 8,929 คน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 9-14 เม.ย.63

จากผลการสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ ถึง 88% ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และมาตรการช่วยเหลือ อาจจะไม่เพียงพอ หากสถานการณ์ยาวนานกว่า 3 เดือน โดยมีเพียง 12% ที่ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือ

ส่วนข้อมูลที่ได้จาก "นายจ้าง" พบว่า 89% ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไข โดยมองว่ามาตรการด้านการเงินที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการพยุงธุรกิจ หรือแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤติ 3-6 เดือน และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการเตรียมเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูกิจการ โดยกลุ่มนายจ้าง มีข้อเสนอแนะดังนี้

  • เร่งกระบวนการช่วยเหลือให้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว เช่น ลดขั้นตอนติดต่อและการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเร่งการเบิกจ่ายช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มโดยตรง เป็นต้น
  • ปรับลดภาษี ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเพิ่มวงเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ที่บุคคลสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้
  • ผ่อนปรนเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เช่น การกำหนดอายุของบริษัท การอิงกับยอดขาย และการกำหนดวางค้ำประกัน เป็นต้น
  • อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนประกันสังคมมาใช้ล่วงหน้าได้ โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืน 9 –12 เดือนแบบปลอดดอกเบี้ย
  • ผ่อนปรนธุรกิจบางประเภทให้สามารถเปิดทำการได้โดยมีเงื่อนไข อาทิ ให้ผ่อนคลายเรื่องการให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้าน โดยยึดหลักเกณฑ์และระเบียบตามมาตรการด้านสาธารณสุข
  • สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของ SMEs โดยการส่งเสริมจัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมแฟรนไชส์ในการลดภาระการเข้าถึงแหล่งเงินกู้

ส่วนข้อมูลจาก "ลูกจ้าง พนักงาน แรงงาน" ส่วนใหญ่ 88% ระบุว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายและมาตรการด้านการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่าย ลดหนี้สิน และการเสริมสภาพคล่องด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤตอย่างน้อย 3 เดือน

ด้านข้อมูลจากกลุ่ม "อาชีพอิสระ" ส่วนใหญ่ 89% ระบุว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะยังติดเงื่อนไขเช่นกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเนื่องจากติดปัญหาด้านเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ ดังนั้น กลุ่มนี้ต้องการให้ภาครัฐผ่อนปรนเงื่อนไขให้เหมาะสมและเร่งช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคในชีวิตประจำวัน และการผ่อนปรนภาระหนี้สิน

ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่ม "ผู้ว่างงาน" ส่วนใหญ่ 91% ระบุว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะติดเงื่อนไขเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ว่างานเป็นกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่กลับเข้าถึงความช่วยเหลือน้อยที่สุด และมีแนวโน้มจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน หากภาครัฐไม่เพิ่มความแรงในการเข้าช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ว่างงานมีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

สำหรับข้อเสนอแนะในภาพรวมจากทุกกลุ่ม ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1.เพิ่มการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ

  • ควรขยายมาตรการช่วยเหลือให้ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มตามลักษณะความต้องการที่เหมาะสม ไม่ควรกำหนดมาตรการเดียวเพื่อประชาชนทั้งประเทศ
  • ลดเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ โดยกำหนดสิทธิการเข้าถึงการช่วยเหลือที่ชัดเจนเหมาะสม และเสมอภาค และเพิ่มช่องทางการประสานงานช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
  • จัดหางานให้กับประชาชนที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ด่วนที่สุด

2.ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการและประชาชน

  • สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและพักหนี้โดยปราศจากเงื่อนไขที่มีความซับซ้อน/ยุ่งยาก และมีมาตรฐานเดียวกันทุกสถาบันการเงิน
  • คืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามสัดส่วนขนาดธุรกิจ คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม งดเว้นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น และเพิ่มการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ผ่อนปรนธุรกิจบางประเภทให้เปิดทำการได้โดยมีเงื่อนไข อาทิ ให้ผ่อนคลายเรื่องการให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้าน โดยยึดหลักเกณฑ์และระเบียบตามมาตรการด้านสาธารณสุข

4. ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น เพื่อนำงบประมาณมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ