นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 22 เม.ย.63 กระทรวงการคลังได้ปิดรับการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตามกำหนดแล้ว โดยมียอดลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28,849,725 คน แต่หากตัดการลงทะเบียนซ้ำออกไปแล้วจะเหลืออยู่ที่ 23.5 ล้านคน
ในจำนวนผู้ลงทะเบียนดังกล่าว กระทรวงการคลังจะเร่งตรวจสอบข้อมูล หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก็จะเร่งโอนเงินเข้าบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้โดยเร็วที่สุด โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมียอดผู้ที่ได้รับสิทธิในท้ายสุดกี่ล้านคน เพราะหากผู้ที่มาลงทะเบียนมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ ก็ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลังทั้งหมด
นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยามีจำนวนกว่า 10 ล้านคน จึงได้เปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิทุกกรณี เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิแล้วประมาณ 2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้กว่า 2 แสนคนผ่านคุณสมบัติแล้ว ไม่ต้องยื่นข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งโอนเงิน 5,000 บาทให้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตรวจสอบได้ง่ายสามารถยึดตามใบประกอบอาชีพได้เลย
ในส่วนของการตรวจสอบสิทธิรอบแรก พบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นแล้วกว่า 4.2 ล้านคน กระทรวงการคลังได้โอนเงินเกือบครบทั้งหมดแล้ว และวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) กระทรวงการคลังจะโอนเงินให้อีก 7 แสนคน (เป็นกลุ่มข้อมูลเดิม 5 แสนคน และขอทบทวนสิทธิ 2 แสนคน) โดยกลุ่มนี้จะได้รับเงินต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน ตัวเลขกลุ่มนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงเว้นแต่มีการตรวจพบว่าไม่ได้เป็นผู้ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่รระบาดของไวรัสโควิด-19 จริง
นายลวรณ กล่าวว่า จากที่เริ่มให้มีการยื่นขอทบทวนสิทธิตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.เป็นวันแรก และได้รับการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะสามารถรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ภายในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) ซึ่งถือว่ามีความรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการทบทวนสิทธิโดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้พิทักษ์สิทธิลงพื้นที่ไปขอข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีบางกลุ่มอาชีพที่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพที่ชัดเจน จึงสามารถแสดงผลการคืนสิทธิและได้รับเงินภายในไม่กี่วันหลังจากที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ
ส่วนคนที่ยื่นขอทบทวนสิทธิแล้ว แต่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิลงไปถ่ายรูปและสอบถามข้อมูลในพื้นที่ด้วยตัวเองนั้น อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะต้องนัดหมายวันเวลาล่วงหน้า โดยปัจจุบันมีทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ 17,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของคลังจังหวัด ทั้งสรรพสามิต, ศุลกากร และสรรพากรในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในพื้นที่ เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ทั้งนี้ คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) กระทรวงการคลังจะสามารถโอนเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รวม 4.9 ล้านคน และวันจันทร์-อังคารหน้าอีก 1.5 ล้านคน ซึ่งจนถึงวันที่ 28 เม.ย. คาดว่าจะโอนเงินให้ได้ถึง 6.4 ล้านคน
"ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าตัวเลขสุดท้ายจะไปจบที่เท่าไร แต่คาดว่าหลังจากนี้ไปทุกวัน จะมีผู้ที่ผ่านระบบคัดกรองเพิ่มขึ้นทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 7 แสนคน" นายลวรณระบุ
อย่างไรก็ดี จะพยายามให้การตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิแล้วเสร็จก่อนวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งจะเป็นวันที่เริ่มจ่ายเงินเยียวยารอบที่ 2
นายลวรณ ยืนยันว่า ประชาชนที่อยู่นอกเหนือจาก 3 กลุ่มนี้ คือ ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, คนชายขอบ และผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต โดยขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังรวบรวมข้อมูลว่ามีจำนวนเท่าใด รวมทั้งจะเสนอแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ต่อไป
ทั้งนี้ หากผ่านไป 3 เดือนแล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องขึ้นกับระดับนโยบายว่าจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมหรือไม่ แต่หากมีเพิ่มเติมจริง เชื่อว่ากระบวนการเยียวยาจะไม่ช้า เนื่องจากกระทรวงการคลังมีฐานข้อมูลครบแล้วทุกกลุ่มในรอบนี้