นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เร่งรัดให้กรมทางหลวง (ทล.) จัดจุดพักรถบรรทุก 7 แห่งตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งจุดใดที่กรมทางหลวงมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้เปิดหาเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ทั้งนี้ ได้ให้ศึกษาข้อมูลปริมาณรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้บริการในแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดหาพื้นที่ให้เพียงพอสำหรับรองรับ ไม่ให้เกิดปัญหารถบรรทุกจอดล้นไปบนถนน โดยให้เร่งสรุปข้อมูลให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ เพื่อรองรับมาตรการจำกัดเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม ในการปรับเวลาอนุญาตให้รถบรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขต กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่เวลา 24.00 น.ถึง เวลา 04.00 น.เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบเดียวกับ เมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ เช่น ปักกิ่ง และโตเกียว ซึ่งมาตรการสูงสุดคือไม่ให้วิ่งเข้าพื้นที่เมืองเด็ดขาด ซึ่งช่วยลดปัญหาการจราจรได้มาก ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้ามาตรการต่อไป
โดยในการกำหนดพื้นที่ห้ามรถบรรทุกนั้น จะยึด ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอก ด้านตะวันออก-ตะวันตกเป็นหลัก โดยถนนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ ถนนวงแหวนรอบนอกฯ นั้น สามารถวิ่งได้ตลอด 24 ชม. ส่วนบนแนวถนนวงแหวนรอบนอกฯ กำหนดให้วิ่งได้ 14 ชม.แบ่งเป็นช่วง ดังนี้ วิ่งได้ ตั้งแต่เวลา 24.00-06.00 น. (6 ชม.) / ห้ามวิ่ง ตั้งแต่ 06.00-10.00 น. (4 ชม.) / วิ่งได้ ตั้งแต่ 10.00-15.00 น. (5 ชม.) / ห้ามวิ่ง ตั้งแต่ 15.00-21.00 น. (6 ชม.) / วิ่งได้ ตั้งแต่ 21.00-24.00 น. (3 ชม.)
ส่วนถนนด้านใน ของถนนวงแหวนรอบนอกจะอนุญาตให้วิ่งได้ 4 ชม.ตั้งแต่ เวลา 24.00 น.ถึงเวลา 04.00 น.
ข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการ ระบุว่า ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. การบรรทุกสินค้าผัก ผลไม้ โดยระยะสั้น 1 ปีจะอนุญาตให้วิ่งเข้ามาถึงตลาดไท ตลอด 24 ชม. เพราะสินค้ามีข้อจำกัด เน่าเสียง่าย, ระยะกลาง ปรับซัพพลายเชนที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน ให้สอดคล้องกับการขนส่งไปยังพื้นที่ควบคุม
2.การบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ระยะสั้น 1 ปี ขั้นที่ 1 จะผ่อนผันให้วิ่งไปถึงท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ถนนอาจณรงค์ และถนนเกษมราฎร์ ได้ 24 ชม. ขั้นที่2 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริหารจัดการกระบวนการในเขตท่าเรือให้เร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อขนถ่ายตู่ได้เร็วขึ้น ระยะยาว 5 ปี เปลี่ยนภารกิจท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือท่องเที่ยว โดยย้ายการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไป ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกทท.รับไปจัดทำแผน ปฎิบัติการ
3.การบรรทุกวัสดุก่อสร้าง แบ่งเป็น แผนระยะสั้น 1 ปี ขั้นที่ 1 อนุญาตให้รถบรรทุกคอนกรีตผสมเสร็จ วิ่งได้ช่วงเวลา 10.00 น.-15.00 น. รถบรรทุกดิน และวัสดุก่อสร้าง วิ่งได้ ช่วงเวลา 22.00 น.- 04.00 น. ขั้นที่ 2 กรมการขนส่งทางบก และตำรวจ ได้ทำเวิร์คชอป เจรจากับผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ 4-5 ราย ย้าย Plant มาอยู่ในไซด์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ระยะกลาง 3 ปี ให้เปลี่ยนรถขนส่งคอนกรีตขนาดใหญ่ ไปเป็นรถขนาดเล็กและใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
"ปัจจุบัน Plant คอนกรีตผสมเสร็จ มีกระจาย ไม่เป็นระเบียบ ทำให้รถขนส่งวิ่งจำนวนมาก กระทบต่อการจราจร จึงให้สนข.ประชุมกับกทม.และตำรวจเพื่อจัดระเบียบ โดยบริหารจัดการให้Plant คอนกรีตผสมเสร็จ อยู่ในบริเวณก่อสร้างหรือใกล้จุดก่อสร้างมากที่สุด และใช้รถขนาดเล็กในการขนส่ง และการวิ่งช่วงเวลา 22.00 น.- 04.00 ผู้ประกอบการลดต้นทุน เพราะไม่มีปัญหารถติด"นายศักดิ์สยาม กล่าว