นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า ขณะนี้พลังในการดูแลค่าเงินบาทดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา หลังจากมีการออกมาตรการต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จากในอดีตที่หน้าที่ทั้งหมดในการดูแลปัญหาค่าเงินบาทตกอยู่กับธปท.เพียงหน่วยงานเดียว
"เรามั่นใจว่าพลังในการดูแลค่าเงินบาทดีขึ้นเยอะ เดิมแบงก์ชาติทำคนเดียว ขณะนี้เราให้เอกชนมาช่วย มาตรการ 6 ข้อคือให้เอกชนมาช่วยด้วย จะบอกว่าช่วยชาติก็ได้ หรือช่วยในทางที่เป็นประโยชน์ต่อเขาเอง" ผู้ว่าฯธปท.กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
ส่วนที่เกรงกันว่ามาตรการที่ออกมาทั้ง 6 มาตรการอาจไม่เพียงพอใจการดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้นั้น นางธาริษา กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดที่ออกมาเป็นความต้องการที่ตรงกันทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมอย่างแน่นอน
"การที่มีมาตรการออกมาหลายอย่างแบบนี้ ไม่ใช่แบงก์ชาตินั่งเทียนขึ้นมา เราได้ปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจ ขณะที่ กกร.ก็พิจารณาของเขาด้วย ปรากฎว่าออกมาคล้ายกันมาก แสดงว่ามาตรการที่ออกมาเอกชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ และเขาอยากได้ แสดงว่ามีดีมานด์ตรงนั้น" นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าจะต้องดำเนินการหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน นอกเหนือจากมาตรการดูแลตลาดเงิน โดยมาตรการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการปรับปรุงศักยภาพด้านการผลิตและส่งออก ซึ่งขณะนี้บางภาคธุรกิจยังต้องการความช่วยเหลือในการปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี จึงควรจะให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว
นางธาริษา ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันมีระบบที่ดีในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยไต้หวันประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลและให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีครบวงจร ทั้งในด้านการปรับปรุงเทคโนโลยี จัดหาสินเชื่อ วิจัยและพัฒนา การตลาด จนกระทั่งการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ
ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า แนวทางที่ ธปท.ดูใช้ดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้ยึดหลักการไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าใช้หลักการกำหนดเป้าหมายค่าเงินบาท โดยจะดูแลให้ระดับของค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันค่าเงินในภูมิภาคและอยู่ในภาวะที่ไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง
"นี่คือแนวทางที่แบงก์ชาติใช้อยู่ เราพยายามไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมาก แต่เราคงไม่สามารถไปต้านไว้ และก็ไม่ควรจะต้าน ที่ผ่านมามีบางช่วงที่แม้เราตั้งเป้าไว้ว่าไม่อยากให้ค่าเงินผันผวนมาก แต่ก็มีหลุดบ้างเป็นครั้งคราว...เราดูความผันผวน(ค่าเงินบาท)มากกว่า ถ้ากำหนดเป้าจะกลายเป็นว่ามีตัวเลขกี่บาทอยู่ในใจ" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--