นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้นำเสนอในระหว่างเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อนำโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP ) ในส่วนงานโยธาเส้นทางส่วนต่อขยาย และการเดินรถทั้งโครงการ
เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีความต้องนำเงินงบประมาณไปใช้สู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น การทำ PPP เป็นคำตอบที่รัฐบาลไม่ต้องจัดหางบประมาณ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีในการจัดทำรายละเอียดโครงการ โดยจะนำเสนอผลศึกษาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ. (คนร.) ภายในเดือน พ.ค.นี้
โดยเบื้องต้น จะต้องดำเนินการตามมติเดิมของ คนร.ที่ให้ รฟท.เป็นผู้เดินรถ แต่หากเปลี่ยนเป็น PPP เพื่อให้เอกชนเข้ามาเดินรถ ก็ต้องให้รฟท.เริ่มต้นเดินรถไปก่อนค่อยโอนให้เอกชน ด้วยการเสนอทบทวนมติ คนร.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รฟท.จะขอขยายงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อออกไปอีกกว่า 500 วัน ซึ่งจะต้องพิจารณาเหตุผลการขอขยายเวลา อย่างไรก็ดี ก็มีเวลาจัดทำ PPP โดยช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงยังไม่สามารถเปิดให้บริการในเดือน ม.ค.64 ได้ตามกำหนด
"เรื่องนี้ได้เรียนท่านนายกฯ และได้ปรึกษาท่านรองฯ สมคิดแล้ว ท่านเห็นด้วย เพราะจริงๆ เป็นแนวคิดของท่านแต่แรกอยู่แล้ว"นายศักดิ์สยาม กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า การเปิดให้ทำ PPP นั้นเอกชนต้องคืนเงินส่วนที่ รฟท.ลงทุน หัวรถจักร ขบวนรถ และระบบอาณัติสัญญาณ ส่วนงานโยธาถือว่ารัฐต้องเป็นผู้ลงทุนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ โครงการรถไฟชานเมืองสีแดงเป็นโครงการที่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JICA) สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้ให้เงินกู้ในส่วนต่อขยายที่คาดว่าจะต้องใช้วงเงินราว 6-7 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เพิ่มเติมจากงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงบางซื่อ-รังสิต อีก 10,345 ล้านบาท ซึ่งหากต้องใช้นำเงินของรัฐก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุที่ต้องเปิดประมูลงาน
ฉะนั้น การเปลี่ยนมาใช้รูปแบบ PPP มาดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีทั้งการลงทุนงานก่อสร้างส่วนฝั่งตะวันตกและการเดินรถในสัญญาเดียวกันจะทำให้โครงการเดินต่อไปได้ดีกว่า โดยจะใช้วิธีรับรู้ส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐหรือ รฟท.รับ 60%ส่วนเอกชน 40%
ทั้งนี้ รฟท.ชะลอการเปิดประมูลโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย
"ถ้าทำอย่างนี้รัฐก็ประหยัดได้ 6-7 หมื่นล้านบาท. แล้วให้รถไฟฯ เดินรถทางคู่ไป"นายศักดิ์สยาม กล่าว
อนึ่ง โครงการ PPP รถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้แก่ งานโยธาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท , สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม. ,สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม.วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท รวมทั้งงานเดินรถทั้งโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง