นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครว่า วันนี้ได้มีการจัดทำแผนงานที่จะเดินหน้าร่วมกันทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์และในส่วนของภาคเอกชนได้กำหนดเป้าหมายว่าสำหรับไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ของปีนี้จะพยายามช่วยกันทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวก
โดยจะมีการดำเนินการร่วมกันใน 4 มาตรการ คือ 1.การช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกระป๋อง ซึ่งส่วนใหญ่จะรับซื้อจากในประเทศซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง กรมการค้าต่างประเทศจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางนัดผู้ผลิตเหล็กผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องและผู้แปรรูปและผู้ส่งออกในเรื่องอาหารทะเลมาหารือร่วมกันหาทางลดต้นทุน
2.กระทรวงพาณิชย์จะเร่งการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ถ้าเป็นไปได้จะเดินหน้าทำ FTA กับแอฟริกาและกลุ่มประเทศยูเรเซีย รวมทั้งผลักดันให้เกิดการลงนามในข้อตกลง RCEP ให้ได้ภายในปีนี้
3.กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนเดินหน้าหาตลาดเพิ่มเติมในจีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ไปจัดทำแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมาว่าจะไปเจาะตลาดเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
4.ภาครัฐและเอกชนร่วมกันประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของอาหารในช่วงวิกฤตโควิด เพื่อให้คนทั้งโลกเกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยที่ส่งออกไปนั้นปลอดจากโควิด โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันทำ MOU ในการให้หนังสือรับรอง COVID free certificate ว่าผลิตภัณฑ์จากโรงงานปลอดจากเชื้อโควิดได้ 100% เพื่อที่จะใช้เป็นเอกสารเพิ่มเติมในการโฆษณาอาหารไทยกับตลาดโลกต่อไป
สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยเมื่อปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 172,235 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.28% ของการส่งออกทั้งหมด มีผลผลิตรวม 1,188,523 ตัน แบ่งเป็น บริโภคในประเทศ 22% และส่งออก 78% สำหรับการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้มียอดส่งออกทั้งหมด 37,910 ล้านบาท หดตัวลดลง 9.77%
สำหรับตลาดหลัก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 21.4% ญี่ปุ่น 20.7% จีน 6.3% และออสเตรเลีย 5.4% โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ 5 ชนิด ประกอบด้วย 1.ปลาทูน่า/ปลาซาร์ดีนกระป๋อง 2.อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่า 3.กุ้ง 4.ปลาหมึก และ 5.ปลา โดยไทยสามารถส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมากสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีส่วนแบ่งการตลาด 28.5% มูลค่าการส่งออกปีที่แล้ว 67,673.3 ล้านบาท ส่วนปีนี้สามารถทำยอดส่งออกขยายตัว 3% ส่วนไตรมาสที่สองภาคเอกชนประเมินว่าจะสามารถทำตัวเลขเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่า 10% สำหรับตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่าตอนนี้ผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มการบริการอาหาร เช่น ภัตตาคาร โรงแรม การบิน มีปัญหาหมด แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขายดีมากเพราะคนซื้อของกลับบ้านกิน จึงเป็นโอกาสทางการตลาดของอาหารแช่แข็ง ส่วนที่สองคือวัตถุดิบค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพในแง่ของจำนวนกับราคาดีพอควร ส่วนกุ้งที่มีปัญหาอยู่ในแง่จำนวน ทางกรมประมงกับผู้เลี้ยงและสมาคมมา 1-2 เดือนแล้วในการหามาตรการช่วยเหลือทั้งห่วงโซ่
ขณะที่ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาคลี่คลายดีมาก คิดว่าอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาสามารถมีวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนตลาดต่างประเทศ มั่นใจว่าปีนี้ทั้งปีตัวเลขจะโตไม่น้อยกว่า 10%