ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: วิตกธุรกิจปล่อยกู้ซับไพร์ม ฉุดดอลล์ร่วงเทียบยูโร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 25, 2007 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ก.ค.) ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร และดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์แคนาดา เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยและปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้าที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพร์ม) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังร่วงลงแตะดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.3830 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 1.3851 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แคนาดาพุ่งขึ้นแตะระดับ 96.72 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์แคนาดา จากระดับของวันจันทร์ที่ 95.55 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์แคนาดา เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางแคนาดาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่วนค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 2.0639 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 2.0579 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 2.0653 ดอลลาร์ต่อปอนด์
นอกจากนี้ ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังซ์สวิส โดยดอลลาร์ปรับตัวลงแตะระดับ 120.41 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 121.33 เยนต่อดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.2041 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.2073 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้ากลุ่มซับไพร์มจะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐซบเซาลงด้วย นอกจากนี้ ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐและยุโรป นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันสกุลเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ ดอลลาร์แทบจะไม่ได้อิทธิพลจากการที่นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า เขาสนับสนุนการใช้นโยบายเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง และระบุว่ากระทรวงการคลังไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา
นายพอลสันเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้ากลุ่มซับไพร์มสามารถยับยั้งได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมกับเรียกร้องให้จีนปล่อยให้หยวนปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า
อย่างไรก็ตาม นายพอลสันยอมรับว่าสหรัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงสร้างภาษีธุรกิจต่อไปเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าโลกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ