นายปกรณ์ วิชยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือ ของ ธปท.ไม่เหมาะสมกับประเทศขนาดเล็กเช่นไทย ซึ่งควรทำหน้าที่เป็นผู้ตามประเทศใหญ่มากกว่า โดยควรปรับเปลี่ยนนโยบายเป้าหมายเศรษฐกิจโดยรวมให้เกิดความสมดุลมากกว่า
นอกจากนี้ ไม่ควรมีเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเป็นการผูกขาดค่าเงินจนเกินไป
"ไทยเป็นประเทศขนาดเล็กไม่มีหน้าที่กำหนดเป้าเงินเฟ้อเท่าไหร เราควรจะเป็นผู้ตามอย่างเดียว สมมุติ วางเป้ามุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 1% แต่การว่างงานสูงถึง 10% ดังนั้นก็ไม่ควรดูแลเฟ้ออย่างเดียวแต่ควรไปแก้ไขปัญหาการว่างงานมากกว่า"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้อำนาจ รมว.คลังเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าการ ธปท. โดยไม่ถือเป็นเรื่องการครองอำนาจฝ่ายเดียวของ รมว.คลัง ซึ่งเป็นการมองนโยบายในด้านลบจนเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องทางด้านนโยบายระหว่างการเงินและการคลัง ซึ่งหากจะให้สอดคล้องกันตัวบุคคลทั้ง 2 ตำแหน่งต้องเข้ากันได้ เพื่อลดความขัดแย้งด้านนโยบาย ซึ่งประเด็นนี้ในที่ประชุมก็มีความเห็นที่หลากหลายและแตกต่างกันไป
ด้านนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของผู้ว่าการธปท.มีน้อยลงอยู่แล้ว เนื่องจากถูกค้านอำนาจจากคณะกรรมการ 3-4 ชุด ดังนั้นหากกฎหมาย ธปท.ฉบับบใหม่มีผลบังคับใช้อำนาจของผู้ว่าการ ธปท.ยิ่งลดลง
นอกจากนี้มองว่าการให้อำนาจรมว.คลังเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าการธปท.เป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ แต่ควรมีกระบวนการในการพิจารณาที่มากกว่า
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/นิศารัตน์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--