(เพิ่มเติม1) บอร์ด กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยอาร์/พี 1 วันอีก 0.25% มาที่ 3.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2007 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้ มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลง 0.25% จากร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็น 3.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยยังเปราะบาง โดยเฉพาะด้านการบริโภค
พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าระดับอัตราดอกเบี้ยใกล้เข้าสู่"neutral"แล้ว
"สัญญาณตอนนี้ใกล้ neutral แต่ก็ขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจด้วย ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวก็อาจจะเพียงพอเท่านี้ กนง.ก็ระมัดระวังอยู่"นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าว
นางสุชาดา กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ในไตรมาสแรกของปี 2550 อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวมากกว่าที่คณะกรรมการฯ คาดไว้ แม้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ยังเปราะบาง เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ
อัตราเงินเฟ้อในครึ่งแรกของปีต่ำกว่าที่คาด ทั้งที่ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ภายในช่วงเป้าหมายตลอด 8 ไตรมาสข้างหน้า นโยบายการเงิน จึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อเอื้อต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จึงได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลง
*ธปท.ระบุลดอาร์/พีจูงใจเอกชนรีไฟแนนซ์หวังผลทางอ้อมให้บาทอ่อน
นางสุชาดา กล่าวว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.25% ยังถือว่ามีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ยังอยู่ในเป้าหมาย ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อต่ำลงก็สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่สัญญาณในขณะนี้คืออัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้"neutral"แล้ว แต่ก็ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ด้วย
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อการป้องกันหรือดูแลค่าเงินบาทเป็นหลัก แต่การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศมากู้ในประเทศแทน ซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำลง และส่งผลทางอ้อมให้บาทอ่อนค่าลงด้วย โดยการปรับลดอกเบี้ยทุกครั้งกนง.ก็พยายามระมัดระวังผลกระทบที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กนง.มีความเป็นห่วงแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีการคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจจะชะลอตัว หลายประเทศจะมีความเข้มงวดนโยบายการเงินและการค้า และอาจลดสิทธิพิเศษทางการค้าลง ซึ่งกนง.ตระหนักดีในเรื่องการชะลอตัวของการส่งออก จึงได้ลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระต้นทุน
นางสุชาดา กล่าวว่า สาเหตุที่กนง.ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง ๆ เพราะช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้วถึง 1.50% รวมครั้งนี้เป็น 1.75% เหมือนเป็นการซื้อประกันความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% จะเป็นการปรับที่แรงเกินไป และที่ผ่านมาธปท.ก็ไม่เคยปรับอะไรแรง ๆ เพราะหลักของนโยบายการเงินจะต้องไม่ช็อคตลาด
ธปท.ยังหวังว่า หลังจากกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้แล้ว ธนาคารพาณิชย์จะเร่งพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงอยู่ที่ 0.23% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 5%
นางสุชาดา ยังกล่าวว่า ขณะนี้ธปท.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับรูปแบบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้เป็นหลักในการดูแลภาวะเศรษฐกิจ จากปัจจุบันที่กำหนดกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ 0-3.5% โดยอาจกำหนดเป็นกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรืออาจดูเป็นรายไตรมาส จากที่ดูเป็นปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ