นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดรูปแบบโครงการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและท้องถิ่น Local Economy เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพ.ค.นี้
นายสมคิด กล่าวว่า จากปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และมีนำไปช่วยเหลือเยียวยา 6 แสนล้านบาทในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แต่มีประชาชนบางส่วนโยกย้ายกลับต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่นในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย.นี้ จึงได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จัดทำหลักเกณฑ์ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ให้เน้นเรื่องการทำเกษตร ทั้งเกษตรดั้งเดิม เกษตรสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเดินหน้าไปได้ และใช้จังหวะเวลานี้การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจะส่งทำให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนได้
รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านไอที ทั้งด้านดิจิทัล การจัดส่งสินค้า และโลจิสติกส์ และการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ ต้องการให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคาดว่าจะสามารถนำสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ได้กลางเดือนพ.ค. และเริ่มโครงการได้ต้นเดือนมิ.ย.
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับแผนงานในอนาคต โดยเน้นการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงให้มีการปรับแผนงบประมาณปี 64 เน้นการสร้างงานให้มากขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ด้วย