นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการเตรียมแผนรองรับ/แผนฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะใช้โมเดล "แฟรนไชส์" มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้แก่ประชาชน โดยจะเน้นแฟรนไชส์ขนาดไม่ใหญ่ สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง กาแฟโบราณ ฯลฯ เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ
โดยเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือไว้ 2 แนวทาง คือ 1. การจ้างงานเข้าสู่ระบบแฟรนไชน์ของเจ้าของแฟรนไชส์ 2. เป็นเจ้าของกิจการเองโดยเลือกลงทุนซื้อแฟรนไชส์มาประกอบเป็นอาชีพ ทั้งนี้ กรมฯ จะได้ประสานไปยังสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เพื่อขอความร่วมมือจากเจ้าของแฟรนไชส์จ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์และลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน รวมทั้งหารือกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมถึง ผู้กู้สามารถชำระคืนเงินต้นได้แบบสบายๆ ไม่กดดัน
สำหรับผู้ที่สนใจเลือกแฟรนไชส์ไปประกอบอาชีพแล้ว แต่ยังไม่มีทำเลหรือสถานที่ขายสินค้า กรมฯ เตรียมประสานงานกับสถานีให้บริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า และคอนวีเนียนสโตร์ขนาดใหญ่ ในการจัดหาพื้นที่ขายสินค้าให้ โดยรายละเอียดการจัดสรรพื้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เลือกซื้อแฟรนไชส์
รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในระบบแฟรนไชส์มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ และเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ กรมฯ พร้อมให้ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำในการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ และเป็นตัวกลางประสานเจ้าของกิจการในการเจรจาธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ไปประกอบเป็นอาชีพได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยกรมฯ จะคัดเลือกแฟรนไชส์ที่ผ่านการส่งเสริมจากกรมฯ และมีเงินลงทุนไม่มาก ตั้งแต่ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท มาให้ผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มากสามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญ คือ มีเจ้าของแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้ โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ (ผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ) ในการก้าวสู่การเป็นมืออาชีพในแวดวงธุรกิจอย่างเต็มตัว
"เป็นการยกระดับผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ให้มีอาชีพที่มั่นคง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้สามารถลืมตาอ้าปาก และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย" รมช.พษริชย์กล่าว
ปัจจุบัน มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมและผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ (Franchise Standard) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 334 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 157 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 65 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 43 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 36 ราย ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 15 ราย และธุรกิจค้าปลีก จำนวน 18 ราย