นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/63 หดตัวแน่นอน ส่วนตัวเลขจริงจะหดตัวมากน้อยเพียงใดนั้นต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และคาดว่าจะเห็นการหดตัวที่มากขึ้นในช่วงไตรมาส 2
ส่วนไตรมาสถัดไปจากนั้นต้องติดตามจากหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ภาวะเศรษฐกิจโลก และผลจากมาตรการของภาครัฐ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/63
"โดยสรุป จะเห็นเศรษฐกิจปีนี้หดตัวในไตรมาส 1 และจากเครื่องชี้หลายตัว จะเห็นการหดตัวที่สูงขึ้นในไตรมาส 2 ส่วนไตรมาสถัดๆ ไป ต้องติดตามดูการแพ่ระบาดของโควิด-19ในประเทศ ทิศทางจำนวนนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลก และผลจากมาตรการการเงินการคลังของภาครัฐ 1.9 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าเม็ดเงินจะเริ่มลงได้ในไตรมาส 2 และเห็นผลชัดเจนขึ้นในไตรมาส 3" นายดอน ระบุ
ส่วนทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้น หลายสำนักประเมินว่ากราฟจะออกมาเป็นตัว U หรือ V ได้ ซึ่งการประเมินขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวว่าจะกลับมาได้ช้าหรือเร็วเพียงใด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ส่วนกรณีที่มีการมองเป็นรูปตัว W นั้น อยู่ภายใต้ปัจจัยที่ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะมีเป็นระลอก 2 ซึ่งประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้
"รูปตัว L คิดว่าโอกาสมีค่อนข้างน้อย เท่าที่ดูตอนนี้มองระหว่าง U หรือ V อยู่ในระหว่างการประเมิน หลักๆ ขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้เร็วช้าแค่ไหน และเศรษฐกิจโลกด้วย...ถ้าเศรษฐกิจโลก คนที่มองว่าเป็น W นั้น การระบาดอาจเกิดระลอกสอง อาจเป็นไปได้เราอาจเจอเช่นกัน เรียกว่าเวฟ 2 ถ้าคนที่มองแบบนี้ เศรษฐกิจจะเป็นรูปตัว W"นายดอน ระบุ
สำหรับสถานการณ์เงินบาทนั้น ขึ้นกับมุมมองของนักลงทุน ดุลบัญชีเดินสะพัด และทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงจากปีก่อน และเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ เป็นไปตามแนวโน้มของสกุลเงินในภูมิภาค เพราะมีการมองว่าน่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้
"ในส่วนของไทยนั้น การคุมสถานการณ์ระบาดได้ ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้เร็ว ต้องใช้เวลา ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวยังไม่กับมาเร็ว จะเป็นแรงกดดันด้านอ่อนค่าอยู่" นายดอนระบุ
สำหรับมาตรการด้านการเงินการคลังของภาครัฐที่ออกมามีวงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ซึ่งต้องติดตามในเรื่องการให้ซอฟท์โลนของ ธปท. ที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 3% ของ GDP นี้ว่าสุดท้ายแล้วจะถูกเบิกใช้จนครบหรือไม่ โดยสัปดาห์แรกเพิ่งมีการใช้ไปในวงเงินราว 24,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการการคลังของภาครัฐที่มีวงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น คาดว่าคงแบ่งใช้ทั้งปีนี้และปีหน้าด้วย ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องลงไปได้รวดเร็ว และตรงจุด เพราะถ้าทำไม่ถูกจุด ก็จะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้
"ถ้าให้ไม่ตรงจุด ก็เหมือนคนเป็นโควิดที่กำลังจะตาย แต่ไม่ได้เครื่องช่วยหายใจ แต่คนที่มีอยู่แล้ว 2-3 อัน กลับได้เครื่องที่ 4 เครื่องที่ 5 ความท้าทายของรัฐคือ ใส่เงินให้เร็ว และตรงจุด เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เกือบ 6% ของจีดีพี ขึ้นอยู่กับว่าจะจ่ายอย่างไร ถ้าจ่ายผิดจุด ก็ได้ผลไม่ได้อย่างที่คาด" นายดอนระบุ
ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้เชื่อว่าจะติดลบมากขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะราคาน้ำมันในระดับต่ำ จะมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ที่มีต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันสูง แต่กลับขายน้ำมันได้ในราคาต่ำ
"ราคาน้ำมันที่ลงมาเยอะมีผลต่อเงินเฟ้อทั่วไป เราประมาณการไว้เมื่อเดือนมี.ค. ที่ราคายังไม่ลงมากขนาดนี้ เราก็มองว่าเงินเฟ้อติดลบแล้ว และเมื่อราคาน้ำมันลดลงมากขึ้นอีก เงินเฟ้อก็ยิ่งติดลบมากขึ้น เรื่องราคาน้ำมันต้องติดตามใกล้ชิด เพราะถ้าราคาต่ำขนาดนี้อาจมีผลต่อบริษัทน้ำมันหลายประเทศ เพราะด้านขุดเจาะอาจมีต้นทุนสูงกว่าราคาน้ำมัน อาจมีปัญหา ต้องดูว่าจะกระทบระบบการเงินด้วยรวมด้วยหรือไม่" นายดอนระบุ