นักวิชาการเสนอธปท.เทน้ำหนักดูแลค่าบาทแทนเงินเฟ้อ พร้อมแนะยกเลิก 30%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 19, 2007 18:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          3 นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ร่วมกันเสนอแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ ธปท. ผ่อนคลายการใช้นโยบายการเงินที่ยึดกรอบอัตราเงินเฟ้อมาเป็นการเน้นดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแทน โดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ยึดกรอบอัตราเงินเฟ้อตึงจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดรับเงินทุนจากต่างประเทศและมีขนาดเล็ก ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออก-นำเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงถึง 150% ของจีดีพี
ขณะเดียวกันยังมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า-ออกประเทศในระดับที่สูง ทำให้ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวอยู่เกือบตลอด ซึ่งบางกรณีมีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ผิดปกติเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น กรอบการดูแลเงินเฟ้ออย่างเดียวก็ควรจะนำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ธปท.ห่วงเงินเฟ้อมากเกินไป แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่ควรทำเร่งด่วนมากกว่าคืออัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการลดดอกเบี้ยล่าสุด 0.25% น้อยเกินไปสำคัญการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง ควรจะลดให้มากทีเดียวและครั้งเดียว" นายนิพนธ์ ระบุ
นอกจากนี้ นายนิพนธ์ ยังห่วงกระบวนการตัดสินใจการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท.เนื่องจากยังมีจุดอ่อนหลายประการ เพราะ ธปท.วางกรอบระดับการแทรกแซงเงินบาทแน่นเกินไป ซึ่งในภาวะปกติอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้าในระดับผิดปกติจึงไม่กล้าที่จะเข้าแทรกแซง เพราะมีกรอบที่วางไว้เป็นข้อจำกัด
“กนง.มีสมาชิกที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากเกินไปหรือเปล่า หรืออาจมีผู้เชียวชาญการเงินไม่มากพอ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญธุรกิจหรือจำนวนกรรมการมีน้อย หรือแสดงถึงการทำงานรวมกันภายในองค์กร ธปท.เองไม่มีการประสานงานกันหรือไม่ ทำให้การใช้นโยบายออกมาไม่ดีพอ สมควรจะปรับโครงสร้าง กนง.ใหม่ เพราะแทนที่จะเรียกประชุมนัดพิเศษกลับรอภาวะปกติ"นายนิพนธ์ กล่าว
ด้านนางปราณี ทินกร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ธปท.ควรยกเลิกมาตรการ 30% และมาเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า-ออกแทนทุกประเภทยกเว้น การนำเข้า ส่งออก เพราะ30% ไม่ได้มีผลดีต่อการสกัดเงินบาทแข็งอีกแล้วในตอนนี้ หลังไปยกเว้นเงินลงทุนในหุ้น ขณะที่รัฐบาลก็จะมีรายได้จากกรณีเพิ่มด้วย
แต่หาก ธปท.ใช้อัตราดอกเบี้ยดูแลค่าเงินบาท จะต้องลดในระดับที่รุนแรงไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสกัดการแข็งเงินบาท ดังนั้น ควรจะนำมาตรการเก็บภาษีเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศมาใช้ เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าประเทศและลดการผันผวนของค่าเงิน แต่อัตราเรียกเก็บไม่ควรอยู่ในระดับสูง เพื่อให้นักลงทุนชั่งใจว่ามีความคุ้มค่าเพียงพอหรือไม่ต่อการลงทุนหรือไม่ และต้องใช้เป็นมาตรการระยะยาวเพื่อลดปัญหาการผันผวนเงินบาทในอนาคต
นอกจากนี้ ธปท.ต้องหยุดการส่งสัญญาณด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้นักลงทุนหยุดการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเงินบาทจะแข็งค่าอีก
ขณะที่นายพลายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าถือเป็นจังหวะดีต่อโครงการวางระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาล เพราะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบถูกลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ