นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บจก.บีแอลซีพี เพาเวอร์ (BLCP) กล่าวว่า บริษัทฯ สามารถลดการใช้น้ำดิบได้ 100% เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดระยองให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤตภัยแล้ง
เดิมนั้นบริษัทฯ รับน้ำดิบจาก บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสวอเตอร์ โดยเฉลี่ยประมาณ 23,500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /เดือน แต่หลังจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ลดการใช้น้ำดิบลง 10% บริษัทฯ ได้มีมาตรการลดการใช้น้ำ และมีนโยบายผลิตน้ำประปาและน้ำดิบจากน้ำทะเล (Reverse Osmosis Sea water Desalination Plant: RO Water) ไว้ใช้ภายในบริษัทฯ แม้การดำเนินการดังกล่าวจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงกว่าการใช้น้ำดิบก็ตาม
โดยในเดือน ม.ค.63 ใช้น้ำดิบอยู่ที่ 20,205 ลบ.ม., ก.พ.63 ลดลงเหลือ 5,054 ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.63 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้แจ้งความประสงค์หยุดรับน้ำดิบจาก EASTW เพื่อสนองต่อนโยบายภาครัฐ โดย BLCP ได้นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด (RO Water) เพื่อใช้ทดแทนน้ำดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงใช้สำหรับสาธารณูปโภค และใช้รดน้ำต้นไม้ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวภายในบริษัทฯ ทั้งหมด จนทำให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำดิบจาก EASTW เหลือศูนย์จนถึงปัจจุบัน และจนกว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
"มาตรการลดการใช้น้ำของ BLCP ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจาก กนอ. และชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี อาทิ ชุมชนเขาไผ่ ได้กล่าวขอบคุณโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่ยกเลิกไม่ใช้น้ำดิบ 100% และหันไปใช้น้ำ RO ที่บริษัทฯ ผลิตได้เองซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงกว่าน้ำดิบ ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณน้ำเหลือเพียงพอกับภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคเกตรกรรม ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมากในช่วงที่ผลไม้ต่างๆ กำลังผลิดอกออกผล และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องใช้น้ำทำความสะอาดบ้านเรือน โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีขอมีส่วนร่วมในการช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตด้วยความเกื้อกูลและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชาวระยอง เพราะน้ำคือความมั่นคงของประเทศ" นายยุทธนา กล่าว
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2562 เขตภาคตะวันออกจะประสบกับภาวะภัยแล้งขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้ง 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา กนอ.มีแผนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมาโดยตลอด และในปีนี้ กนอ. ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ให้ปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% แต่เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (Shutdown/Turnaround) สำหรับผู้ประกอบกิจการ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเริ่มเปิดเดินเครื่องการประกอบกิจการในช่วงเดือน มี.ค.63 ทำให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากโควต้าที่ได้รับ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่าการใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กนอ.และผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ในการปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% ตามแผนงานที่ได้วางไว้