นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพังงา ณ หอประชุมราชสีห์ 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดพังงา ศูนย์ราชการจังหวัดพังงา โดยรองกล่าวว่า ในเรื่องที่ 1 ปริมาณยางพารากับการใช้ยางพาราในโลกยังไม่สมดุลกับความต้องการของตลาดโลก คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีนโยบายโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ต้องยอมรับว่าเกษตรกรสูญเสียรายได้ แต่เป็นการลดปริมาณผลผลิตเพื่อที่จะได้ไม่ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ทางการยางฯต้องมีเงินชดเชย ทำให้ทุกวันนี้มีนโยบายรัฐ ถ้าโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นจะได้รับเงินสงเคราะห์แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าให้เงินสงเคราะห์ชาวสวนยางให้เงินโค่นแถวเว้นแถวมีคนเข้าร่วมโครงการยังน้อยมาก เพราะไม่จูงใจให้เกษตรกรโค่นยางแล้วไปปลูกพืชเกษตรอย่างอื่นที่อาจจะมีอนาคตดีกว่าก็ตาม
"สิ่งที่อยากจะขอฝากท่านประธานไปช่วยคิดดูว่าเงินสงเคราะห์ที่ท่านให้ทุกวันนี้ก็ได้ละไร่ละ 16,000 บาท จูงใจพอหรือเปล่า ที่จะช่วยลดปริมาณยางในประเทศไม่ทำให้ยางล้นโลก ถ้ายังไม่จูงใจพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่ท่านจะต้องไปเพิ่มเงินสงเคราะห์ค่าโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น อาจต้องเพิ่มเป็นเท่าไหร่ขอฝากเป็นการบ้านไปช่วยคิดด้วยเพื่อให้เกิดแรงจูงใจเพราะว่าระยะยาวเราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาทั้งระบบได้" นายจุรินทร์กล่าว
เรื่องที่ 2 นโยบายประกันรายได้ในส่วนข้าว ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง เกษตรกรพอใจ ราคาข้าววันนี้ไปเกวียนละ 10,000 กว่าบาทแล้ว แต่คนที่เคยได้ส่วนต่างก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะไม่มีเงินส่วนต่างซึ่งความจริงเกิน 10,000 ดีกว่าไม่ถึง 10,000 เพราะเกษตรกรจะได้เงินมากกว่า เข้ากระเป๋าเดียวแต่มากแทนที่จะเป็น 8,000 บวก 1,000 ได้แค่ 9,000 เป็นต้น
สำหรับประกันรายได้ยางพารา เป็นทางออกให้อย่างน้อยมีหลักประกันในเรื่องรายได้ ยกเว้นราคาดีขึ้นจน รายได้ที่ประกัน จึงอยากฝากประธาน กนย. เรียกประชุมทั่วประเทศอีกรอบ เกษตรกรที่ตกหล่นตัวเลขอยู่ในมือของตนจำนวนมาก ทั้งบัตรเขียว บัตรสีชมพู แต่บัตรเขียวขณะนี้ได้รับเงินไปเกือบ 100% แล้ว บัตรสีชมพูยังตกหล่น จังหวัดน่าน 10,000 ราย จังหวัดเชียงรายเกือบ 10,000 ราย มีอยู่ 18 จังหวัดทั่วประเทศที่ยังตกหล่นอยู่อีกมาก และจังหวัดพังงาก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่พังงาผู้ว่าฯ ได้รับเรื่องแล้ว โดยวันที่ 8 พฤษภาคมจะทำให้เสร็จทุกจังหวัดต้องช่วยกันและประธาน กนย.ต้องไปเร่งประชุม และก็ ธ.ก.ส.ก็ต้องช่วยอำนวยความสะดวกทันทีที่จบต้องโอนย้อนกลับไปให้
เรื่องที่ 3 เรื่องเงินเยียวยาเกษตรกร รัฐบาลมีนโยบายให้เงินเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้ว 15,000 บาท เกษตรกรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่างจะมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทด้วย เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขอให้ไปดูทะเบียนอย่าให้ตกค้างด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ครม. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ก็ได้เน้นย้ำแล้วว่าบัตรสีชมพูก็ควรจะได้รับเงินส่วนต่างด้วยเนื่องจากเป็นเกษตรกรตัวจริงเหมือนกันตามกฏหมาย เพียงแต่เขาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินขออนุญาตฝากให้เร่งดำเนินการด้วย