นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ในปี 2551 สถาบันฯ จะได้รับงบประมาณ 131 ล้านบาทจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ให้แข่งขันในตลาดส่งออกได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทค่อนข้างมาก
ส่วนแนวทางการเสริมศักยภาพผู้ประกอบในปี 2551 สถาบันฯ ได้วางแผนจัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขึ้น 9 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาTechnical Textile โครงการพัฒนาผ้าผืน โครงการยกระดับอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสำเร็จในประเทศไทย โครงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ (คลัสเตอร์) โครงการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านเทคโนโลยี ด้านแฟชั่นและด้านบริหารในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอด้วยเทคโนโลยีฟอกย้อมแต่งสำเร็จ โครงการการนำผลวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textile ในเชิงพาณิชย์ โครงการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานในส่วนภูมิภาค และโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องเชิงลึก
นอกจากนี้ ยังจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปี 2550-2554 ใช้งบประมาณ 3.8 ล้านบาท โดยจะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นไปที่การผลักดันให้มีการซื้อขายและลงทุนสิ่งทอในอาเซียน การพัฒนานวัตกรรมของสินค้า และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ของผู้ประกอบการ
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำหรืออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง ล่าสุดพบว่ามีโรงงานการ์เม้นท์ 109 แห่งปิดกิจการไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง
และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 4.7 ขณะที่สินค้าประเภทต้นน้ำ เช่น ผ้าผืน ด้าย เส้นใย ยังคงขยายตัวค่อนข้างดีร้อยละ 9-10
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 313 อีเมล์: pornpen@infoquest.co.th--