COVID-19ก.อุตสาหกรรม พลิกโควิดเป็นโอกาส เร่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 4, 2020 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ จากแผนคาดการณ์ว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 4.8 แสนล้านบาท ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการตลาด เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ (Healthy Food) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food)

ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตให้ตรงความต้องการของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีเครือข่ายบริษัทอาหารชั้นนำ (Global Player) และจะเชิญมาเป็นพี่เลี้ยง (Big Brother) ให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs เพื่อบ่มเพาะแนวคิดธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อผลักดันผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ไปสู่เวทีโลก

2) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เช่น การพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industrial Transformation Center : FITC) เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมอาหาร การพัฒนาและสนับสนุนการใช้ Intelligence Packaging (บรรจุภัณฑ์ฉลาด) ที่สามารถแสดงข้อมูลระดับสินค้า (Grade) คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อใช้บรรจุอาหารสด การส่งเสริมให้มี Future Food Lab ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยายที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ โดยในมาตรการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชน

3) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) เป็นมาตรการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก โดยการเชื่อมโยงการค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว เช่น การจัดกิจกรรม Food Expo ระดับโลกอย่างงาน THAIFEX การพัฒนา Big Data ฐานข้อมูล SMEs และเปิด SMEs One Portal หรือแหล่งรวม Knowledge & Service ให้ SMEs เข้าถึงบริการทั่วถึง ทุกที่ ทุกเวลา การพัฒนา Digital Value Chain เพื่อผลักดันผู้ประกอบการอาหารอนาคต สู่ Global Value Chain และเข้าสู่ระบบ E-commerce ที่มีอยู่แล้วเข้าสู่ตลาดโลก การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะ SMEs เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งในภาพรวมของมาตรการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

4) มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การส่งเสริมการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารในระดับต่าง ๆ การยกระดับ SMEs สู่มาตรฐาน (SMEs Standard) ที่เหมาะสม พร้อมสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) การสร้างระบบมาตรฐานที่จะรองรับการพิสูจน์ (Identify) สารสกัดชนิดใหม่ของไทยจากสมุนไพรหรืออาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล เป็นต้น ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นขับเคลื่อนหลัก และจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การกำกับการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ และการติดตามผลการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารสู่อาหารอนาคต เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ทั้งภายในประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประสบปัญหากับโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและทิศทางของโลก เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ