นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี 2562 โดยเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 62 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5 บวก/ลบ 1.5% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง ส่วนในปี 63 ได้กำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 - 3%
กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ขยายตัว 2.1% ต่ำลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 62 ที่ 2.7% จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง การส่งออกมีทิศทางปรับดีขึ้นในบางหมวดสินค้า การส่งออกบริการปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 63 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2.8% เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการท่องเที่ยวของไทย
ส่วนภาวะเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังปี 62 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.50% ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่ 0.92% โดยอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 62 อยู่ที่ 0.71% ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.46% ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ 0.58% เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ลดลง ขณะที่ในปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7%
ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ระบบการเงินของไทยมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 2.แนวโน้มพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ 3.ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินนั้น นโยบายอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดการเงิน และสถาบันการเงินผ่อนคลายมากขึ้น
ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน กนง.ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไป โดยได้สนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินการต่าง ๆ เช่น กำหนดมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และดำเนินการเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในประเทศของภาครัฐและภาคเอกชน
การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการลดความเสี่ยงในระยะต่อไปจาเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
ส่วนการสื่อสารนโยบายการเงิน กนง.ดำเนินนโยบายการเงินโดยติดตามพัฒนาการของข้อมูล และให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งมีการเผยแพร่บทวิเคราะห์เชิงลึกในรายงานนโยบายการเงินด้วย