กสิกรไทยฯ ระบุโควิดระบาดกดอุตฯยานยนต์ทรุดหนักสุดรอบกว่า 9 ปี แต่เปิดโอกาสเป็นฐานผลิตใหม่หลังคลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2020 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยผลักดันสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี ด้วยปริมาณการผลิตที่อาจหดตัวสูงถึงกว่า 25% ลดลงไปแตะตัวเลข 1.52 ล้านคัน โดยการส่งออกอาจหดตัวสูงกว่า 29% ด้วยตัวเลขส่งออกที่ลดลงเหลือเพียง 7.5 แสนคัน ขณะที่ตลาดในประเทศก็เผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้อาจหดตัวไปถึง 21% ด้วยยอดขาย 8 แสนคัน ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ภาวะปกติอีกครั้งคาดว่าอาจเป็นช่วงกลางปี 64 ถึงหรือต้นปี 65 แต่ยังอาจสร้างโอกาสให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาค จากการที่ค่ายรถยนต์มองแนวทางกระจายความเสี่ยงหลังโควิดคลี่คลาย

ศูนย์วิจัยฯ ประเมินไว้เบื้องต้นจากมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันว่ามีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 63 นี้อาจหดตัวลงอย่างมากประมาณ 21-25% หรือผลิตรถยนต์ได้เพียง 1,520,000 ถึง 1,590,000 คัน จากที่ผลิตได้ 2,013,710 คันในปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขการผลิตดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เร่งให้ห่วงโซ่อุปทานรถยนต์มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่มุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยงควบคู่ไปกับการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากขึ้น หลังต้องหยุดเดินสายการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีน ทำให้ต่างได้เห็นถึงความเสี่ยงของการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวมากขึ้น นอกจากนี้ พฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนไปด้วยการเว้นระยะห่าง ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนนับจากนี้ไปย่อมส่งผลต่อการปรับรูปแบบกระบวนการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในโรงงานให้ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการพึ่งพิงเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น

"ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือข้อสรุปถึงการรักษาเฉพาะทางที่ถูกกับโรค ทำให้ตัวเลขประมาณการดังกล่าวอาจไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายและมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตหากเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกหลายระลอกก่อนจบปี 63" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย คาดว่าหลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงเมื่อมีวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงต้นปี 64 เป็นต้นไป แต่จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในไทยและต่างประเทศที่ยังอยู่ในภาวะทยอยฟื้นฟู ดังนั้นกว่าที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งก็อาจเป็นช่วงกลางปี 64 ถึงต้นปี 65 ไปแล้ว

"สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันแม้จะทำให้เกิดการชะงักงันครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับไทยได้หากมีการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างเหมาะสมในอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อนักลงทุนผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติหลายรายทั้งจากจีนและชาติอื่นๆ ต่างเล็งเห็นถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตที่มากขึ้น โดยการกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดียว เช่น จีน ไปยังฐานการผลิตอื่นที่เป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับยุทธศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค"เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ดังนั้นในสถานการณ์ดังกล่าว ค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสที่จะเลือกดำเนินนโยบายกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการลดระดับระบบการผลิตแบบ Just In Time รวมถึงการโยกฐานการผลิตออกสู่ประเทศที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ หากมีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น

หลังเกิดการชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีนได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไปทั่ว แม้ไทยเองจะไม่ได้พึ่งพิงชิ้นส่วนจากจีนมากนัก เนื่องจากกว่า 80-90% ของชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบรถยนต์ 1 คันนั้นสามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ชิ้นส่วนบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ เช่น เซ็นเซอร์ระดับสูง และ ECU เป็นต้น ที่ไม่สามารถส่งออกมาจากจีนได้ทำให้ต้องสลับไปหาชิ้นส่วนดังกล่าวจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นแทน ซึ่งลักษณะการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวที่มากเกินไปจนเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต ด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับการผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ Just In Time ลง เนื่องจากมีจุดอ่อนคือ การมีสต็อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้ผลิตน้อย แม้จะดีต่อการไม่ต้องแบกรับต้นทุนสต็อกสินค้า แต่หากเกิดปัจจัยเสี่ยงอันไม่คาดคิดอย่างกระทันหัน ทำให้ไม่มีวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพียงพอสำหรับผลิต จะเป็นผลเสียอย่างมากต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน และอาจมีผลต่อการสูญเสียลูกค้าหรือถูกลดคำสั่งซื้อในอนาคตลงได้ ซึ่งกรณีที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีระดับการพึ่งพิงวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศมากในขั้นตอนการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ประเทศฐานการผลิตที่มีจำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนน้อยไม่ครบวงจรในประเทศก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่มีคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่และมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจร

แม้ไทยจะยังมีความได้เปรียบกว่าประเทศฐานการผลิตอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากมีการพัฒนาคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถทำได้ในประเทศ ทำให้การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ Just In Time อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาก แต่ในชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทที่มีความซับซ้อนในการผลิตและต้องนำเข้า รวมไปถึงมีการใช้วัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตเพียงไม่กี่แหล่งและต้องนำเข้าเช่นกันนั้น อาจต้องมีมาตรการเพิ่มสต็อกมากขึ้น เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนในอนาคตของผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย การผ่อนคลายระบบ Just In Time อาจจะยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นเพียงการสต็อกชิ้นส่วนนำเข้าสำคัญบางส่วนที่มีขนาดเล็กไม่เปลืองพื้นที่และมีการใช้ร่วมกันได้กับรถยนต์หลายรุ่นจากการใช้ platform เดียวกันที่อาจเกิดมากขึ้นได้ในอนาคต ในทางกลับกันค่ายรถยนต์มีแนวโน้มที่จะขอความร่วมมือในการบริหารจัดการสต็อกไปยังกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนมาผลิตมากขึ้นแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดต้นทุนในการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นโดยตรงกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่มดังกล่าว

แนวทางสำคัญที่ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยกลุ่มที่อาจต้องมีการเพิ่มสต็อกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อรับมือจากการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คือ การติดตามสถานการณ์การผลิตในระยะที่กระชั้นขึ้นกว่าอดีต รวมถึงการวางแผนงานในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น และมีการหาแหล่งวัตถุดิบหรือผู้ชิ้นส่วนสำรองในอนาคตเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย

ส่วนการพิจารณาโยกย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางกลุ่ม โดยเฉพาะออกจากจีน ไปรวมศูนย์ยังฐานการผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตต่ำโดยเปรียบเทียบพร้อมทั้งมีขนาดกำลังการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากพอรองรับ ซึ่งไทยเองอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้คาดว่าอาจจะทำให้เกิดทิศทางการจัดห่วงโซ่อุปทานการผลิตรูปแบบใหม่ที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ การใช้ platform ร่วมในแต่ละรุ่นรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งภายในค่ายเดียวกันเองกับระหว่างค่าย, การรวบงานบางประเภทใน Tier ระดับต่างๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ platform ร่วมกันในกลุ่มชิ้นส่วนและรถยนต์แต่ละรุ่น รวมถึงการรวมกลุ่มธุรกิจใน Tier ระดับต่างๆ เข้าด้วยกันนั้น แม้โดยรวมจะช่วยให้การใช้กลยุทธ์โยกฐานการผลิตไปแหล่งใหม่เกิดประสิทธิผลมากขึ้น ทว่าอาจทำให้เกิดการล้มหายตายจากของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับ Tier 2, 3 และ 4 ที่มีสายป่านทางการเงินสั้นและไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับคู่แข่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนจากต่างชาติที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย

"การพัฒนาแรงงานที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์มากขึ้นในอนาคตขึ้นมาแทนที่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้นจะเริ่มเข้ามาสู่กระบวนการผลิตในโรงงานด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนมีแนวโน้มที่จะพิจารณาจัดสภาพการทำงานของพนักงานในอนาคตให้สอดคล้องตาม เช่น การจัดช่วงห่างในพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้นมากขึ้น แม้ในระยะสั้นจะมีต้นทุนเพิ่มแต่ในระยะยาวจะทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนและคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาดังกล่าว และลดความเสี่ยงจากปัญหาต่างๆ อันเกิดจากคนงานลงได้

การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอาจเข้มข้นขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน อาจทำให้โรงงานต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่มากขึ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำดังเช่นอดีต ซึ่งอาจเจอได้ในอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานสั้นไม่ซับซ้อน ทว่าสำหรับกรณีอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนซึ่งมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวพันในหลายระดับ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้กลับช่วยส่งเสริมแนวนโยบายกระจายความเสี่ยงไปตั้งโรงงานยังประเทศอื่นที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์สำคัญของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆ ช่วยส่งเสริมการผลิตด้วย Platform เดียวกันให้ถึงจุดที่เกิด Economies of Scale ได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับตลาดอาเซียนและโอเชียเนีย ไทยมีโอกาสเป็นประเทศที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเลือกมากที่สุดในการลงเป็นที่ตั้งฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตบางแห่งอย่างกระทันหัน ด้วยจุดแข็งสำคัญด้านต้นทุนที่ไม่ใช่แรงงานต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าร่วมในโครงการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่มีอยู่ด้วยกันหลายโครงการ พร้อมทั้งมีขนาดกำลังการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากพอรองรับเนื่องจากมีปริมาณความต้องการซื้อรถในประเทศในระดับสูงและมีการส่งออกไปประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งกลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนหลักคาดว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ออกมาจากจีนและที่มีรถยนต์ในตลาดอาเซียนและโอเชียเนีย โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันไทยมีการให้การสนับสนุน และตลาดมีการเติบโตที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างเด่นชัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ