KBANK มองโอกาสบาทแตะ 32 หากทุนสำรองฯพุ่งเกิน US$9.3 หมื่นล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2007 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองโอกาสเงินบาทมีสิทธิแข็งค่าแตะ 32 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ หากทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยพุ่งเกิน 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 
จากระดับปัจจุบันที่สูงถึง 8.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศยังเอื้อให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และจีน ยังมีการขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่น่าจะขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลดีจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาค อีกทั้งดุลการค้าที่ยังเกินดุลเมื่อรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสริมให้เงินบาทแข็งค่าต่อไปได้อีก ผนวกกับการเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะส่งผลให้ทุนสำรองปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก
"เงินที่ไหลเข้าในภูมิภาคเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นรูปของเงินลงทุนที่ไม่ได้เข้ามาเฉพาะในไทย แต่เข้ามาทั้งภูมิภาค" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนั้น การขาดทุนทางบัญชีของธปท.จากการแทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาถึง 1.7 แสนล้านบาท ก็แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของทางการในการที่จะเข้าไปแทรกแซงค่าเงินในระยะต่อไปด้วย
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า แม้ทางการจะมีมาตรการออกมาดูแลค่าเงิน แต่ค่าเงินที่ยังแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงอย่างอื่นมากระทบ โดยเฉพาะการขาดความมั่นใจภายในประเทศ ทั้งจากปัญหาการเมือง การบังคับใช้กฎหมายค้าปลีก หรือ การแก้ไขกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ยังไม่ลงตัว ทำให้คนขาดความเชื่อมั่น จึงมีการชะลอการลงทุนและการบริโภค ส่งผลต่อเนื่องไปถึงยอดการนำเข้า
"จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดที่กล่าวว่า ทำให้เราเกิดปัญหา miss match(ความไม่ลงตัว) คือ การที่เรารับรายได้เป็นดอลล์ แต่รายจ่ายยังคงเป็นบาท" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วน 6 มาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ทางการประกาศใช้นั้น นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นการบรรเทาปัญหา หรือแค่ช่วยลดบทบาทของมาตรการกันสำรอง 30% แต่ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอย่างชัดเจน เพราะตราบใดที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ประกอบกับมีเงินไหลเข้าในตลาดหุ้น ส่งผลให้ทุนสำรองเพิ่มสูงขึ้น เงินบาทก็ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกอบสิทธิ์ แสดงความเห็นถึงมาตรการอนุญาตให้ฝากเงินสกุลดอลลาร์กับสถาบันการเงินในประเทศว่า เป็นเรื่องยากที่จะมีใครนำเงินจำนวนมากไปฝากไว้เฉย ๆ เนื่องจากธุรกิจยังจำเป็นต้องมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน แต่คงจะช่วยในแง่ของการชะลอการขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก ซึ่งจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าอย่างผันผวน 20-30 สตางค์ต่อวันเหมือนอย่างที่ผ่านมา
พร้อมกันนั้น ยังมองว่าในที่สุด ธปท.คงจะต้องยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ แต่ก็จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดการทำ carry trade ได้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่าในภูมิภาคค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากการเน้นใช้นโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น ในอนาคตคงต้องมีการใช้นโยบายทางการคลังมากขึ้น เพราะนโยบายทางการเงินการใช้อาจไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยาวิเศษทุกอย่าง แต่อาจกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่พูดกันตอนนี้ คือ การมีตลาดเงินบาทในประเทศและต่างประเทศแบ่งแยกกันอย่างชัดเจแม้จะเป็นการส่งผลทางจิตวิทยา แต่หากคนเริ่มมีความเชื่อมากขึ้นว่าค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์จะวิ่งเข้าหา rate ในตลาดออฟชอร์ ก็อาจทำให้เกิดผลที่เป็นจริงได้ เพราะพฤติกรรมของตลาดจะสะท้อนถึงการซื้อขายที่แท้จริง จึงควรรีบทำความเข้าใจให้ชัดเจน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ