นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนการทำงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ โดยการค้ำประกันเต็มวงเงินที่มีอยู่ โดยกระทรวงฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มวงเงินให้
เนื่องจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ภาครัฐจึงออกมาตรการช่วยเหลือทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอี
"ช่วง 8-12 เดือนข้างหน้า หรือในปี 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเกิดการรีสตาร์ทธุรกิจซึ่งจะมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนอีกจำนวนมาก บสย.จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น บสย.ควรจะต้องกำหนดช่วงเวลาในการเข้าไปค้ำประกันให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ โดยต้องเตรียมแผนงานรองรับเพื่อช่วยผู้ประกอบการรีสตาร์ทธุรกิจ" นายสันติ กล่าว
ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลของ บสย.พบว่าจากต้นปีจนถึงวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา บสย.ดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการค้ำประกันตามโครงการ PGS 8 วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ล่าสุดใช้วงเงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะค้ำประกันเต็มวงเงิน โดย บสย.อยู่ระหว่างเตรียมขอออกโครงการ PGS 9 วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท
"ผมเห็นว่า 2 แสนล้านบาทอาจจะน้อยไป ให้ไปทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะต้องดูเผื่อช่วงที่ธุรกิจกลับมารีสตาร์ทด้วย หากจะเพิ่มวงเงินมากกว่า2 แสนล้านบาท ผมสนับสนุนเต็มที่ แต่นอกจากการสนับสนุนผู้ประกอบการรีสตาร์ทธุรกิจแล้ว อยากให้ บสย.มีเป้าหมายเน้นอุตสาหกรรม SME ที่เป็นเครือข่ายกับสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่มีส่วนสนับสนุน หรือดึงการลงทุนเข้ามา ทั้งการลงทุนในพื้นที่ของ EEC หรือพื้นที่บริเวณอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ด้วย"นายสันติ กล่าว