สสว.จับมือหน่วยงานรัฐ-เอกชนผลักดัน SME เข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เล็งชงมาตรการหนุนเสนอรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2020 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมมือกับ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการความร่วมมือหาแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถพลิกฟื้นกิจการภายหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยการมุ่งสร้างโอกาสในตลาดที่สำคัญ คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เห็นได้จากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่า ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเอสเอ็มอียังเข้าถึงได้น้อย ซึ่งจากจำนวนเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีกว่า 7 แสนราย มีผู้ที่สามารถเข้าสู่ระบบจัดซื้อฯ โดยร่วมยื่นข้อเสนอโครงการได้เพียง 61,956 ราย หรือเพียง 8.84% ซึ่งมีอุปสรรคสำคัญมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงระบบฯ รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการจัดจ้างของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนสูง ขณะที่ความน่าเชื่อถือในการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างและภายในระยะเวลาที่กำหนดมีต่ำกว่ารายใหญ่

แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างนำเสนอ 2 มาตรการ ได้แก่ การกำหนดสัดส่วนงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอี 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดแต้มต่อด้านราคา เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด 10% สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้เตรียมนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ขณะที่การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ คณะทำงานฯ ทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ควรมีการดำเนินการ ประกอบด้วย

1.การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี ภายใต้มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนด ซึ่งนอกจากจะเป็นการยืนยันตัวตนของเอสเอ็มอีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น

2.จัดทำบัญชีรายการสินค้าและบริการ (Product List/ SME Catalog) โดยรวบรวมรายการสินค้าเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สามารถเลือกซื้อหรือใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าได้ โดยสินค้านำร่องที่จะอยู่ในบัญชี SME Catalog ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) อุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน 2) เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก 3) ของขวัญ/ของชำร่วย 4) อาหารและเครื่องดื่ม 5) จ้างทำของ/จ้างเหมาบริการ และ 6) โรงแรม/ที่พัก/สถานที่จัดประชุม-อบรม-สัมมนาขนาดเล็ก

นอกจากนี้คณะทำงานยังมีการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมอื่นๆ เช่น กำหนดงานที่มีมูลค่าไม่เกิน 2-5 ล้านบาท ต้องจ้างเอสเอ็มอี โดยเฉพาะ ต้องเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ฯลฯ และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นให้คำปรึกษาแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงการ การจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของเอสเอ็มอี ในเรื่องดังกล่าวให้กับส่วนราชการซึ่งเป็นผู้กำหนดขอบเขตการจ้างงานได้รับรู้ เพื่อผลต่อการพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานให้เอื้อต่อเอสเอ็มอี มากขึ้น

ในส่วนของ สสว.ได้เตรียมนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่ 1) กำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นและกลุ่ม Micro 2) การให้แต้มต่อด้านราคา 3) กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4) กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และ 5) กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า

"สิ่งที่ สสว.จะนำเสนอส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวทางของคณะทำงานฯ นอกจากนี้หากกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานทั้งหมดให้มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้น 10% จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 130,000 ล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ เห็นควรกำหนดเพดานวงเงินไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของ WTO" น.ส.วิมลกานต์ กล่าว

นอกจากนี้ ในด้านการกำหนดโจทย์ล่วงหน้าเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สสว.ได้นำสมาคมการรับช่วงผลิตไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้า และอุตสาหกรรม S-Curve เข้าพบ พล.อ.อ.ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานให้กับเครื่องบินของกองทัพ ที่มีกองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ และ สสว. เป็นผู้ถือหุ้น เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก จะเข้าเป็นผู้จัดหาสินค้า บริการ และร่วมผลิตชิ้นส่วนให้กับการซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศ และอุตสาหกรรมการบิน

โดยทางบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด แจ้งว่าเป็นนโยบายของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ที่ต้องการจะเชื่อมโยงให้เกิดการกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้าเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด โดยบริษัทฯ จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตั้งแต่การเตรียมตัวให้ได้การรับรองมาตรฐาน และในขั้นต่อไป สสว. จะร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ในการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านโจทย์การผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานต่อไป

อย่างไรก็ดี แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจหลัก ทั้งกรมบัญชีกลาง สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ