ThaiBMA จับตากลุ่มหุ้นกู้ High Yield ไม่มีหลักประกันเสี่ยงผิดนัด 1.6 หมื่นลบ.หลังเจอวิกฤติโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2020 20:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ"Update ทิศทางตลาดตราสารหนี้"ว่า มูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 81% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยมีสัดส่วนหุ้นกู้เอกชนอยู่ที่ 24.12% ของจีดีพี โดยที่ในปี 62 ที่ผ่านมาถือว่ามีการออกตราสารหนี้และหุ้นกู้เอกชนเพิ่มขึ้นมากทำสถิติมูลค่าการออกตราสารหนี้และหุ้นกู้สูงสุดรวมกันทั้งหมด 1.08 ล้านล้านบาท

การทำสถิติสูงสุดของมูลค่าการออกตราสารหนี้และหุ้นกู้สูงสุดในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา มาจากปัจจัยของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ภาคธุรกิจต้องมีการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการพึ่งพิงสินเชื่อของธนาคารเริ่มมีข้อจำกัด ทำให้เมื่อภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักรัพย์ หันมาออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาขยายการลงทุน ทำให้สัดส่วนหุ้นกู้เอกชนสูงถึง 60% ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมดที่ออกในปี 62 แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนหุ้นกู้เอกชนที่คงค้างอยู่ในตลาดในไทยที่ 24.12% ของจีดีพี ถือว่ายังน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่มีสัดส่วน 40% ขึ้นไป

สำหรับหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงวันที่ 7 พ.ค.-31 ธ.ค.63 มีมูลค่ารวม 3.4 ล้านล้านบาท โดย เป็นหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ใน SET100 ราว 50% และบริษัทใน SET50 ราว 15% ส่วนบริษัทที่อยู่ใน mai และบริษัทอื่นๆมีสัดส่วนอยู่น้อยมาก ซึ่งอันดับเครดิตเรตติ้งของหุ้นกู้ภาคเอกชนของไทยที่อยู่ในช่วงครบกำหนดภายในปีนี้ถือว่ามีคุณภาพเครดิตที่ดี โดยระดับ AAA-A มีสัดส่วนอยู่ที่ 76% ของมูลค่าคงค้าง อันดับเครดิตเรตติ้ง BBB อยู่ที่ 18% ของมูลค่าคงค้าง ซึ่งทั้งสองเกรดนี้ถือเป็นตราสารหนี้ในกลุ่ม Investment Grade ที่น่าลงทุนได้ และนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ลงทุนในเกรด AAA และ A เป็นส่วนใหญ่

ส่วนกลุ่มที่มีอันดับเครดิตเตรตติ้งต่ำกว่า BBB-ไม่มีเครดิต หรือกลุ่ม High Yield มีสัดส่วน 6% ของมูลค่าคงค้าง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องจับตาแม้ว่าจะมีสัดส่วนอยู่ไม่มาก เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย

นายธาดา กล่าวว่า กลุ่ม High Yield มีมูลค่าที่ครบกำหนดในปีนี้ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่มีการเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็น PP10 มีสัดส่วน 16% และกลุ่มที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมีสัดส่วน 36% เป็นกลุ่มที่มองว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ไม่สูง แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงจะอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่มีสัดส่วนสูงถึง 48% หรือมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ ThaiBMA จับตาดูอยู่

นายธาดา กล่าวว่า สถานการณ์การออกตราสารหนี้และการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดช่วงไตรมาส 1/63 ถือว่าชะลอตัวลงไปมาก โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน มีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มเห็นการกลับมาฟื้นขึ้นเล็กน้อยในช่วงเปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ความต้องการซื้อยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ และธนาคารยังไม่เปิดให้บริการสาขาอย่างเต็มที่ รวมถึงคนยังกังวลการเข้าใช้บริการในสาขาของธนาคารอยู่บ้าง ทำให้การซื้อชะลอตัวลง ซึ่งมีหุ้นกู้บางรายขายไม่ได้บ้างในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผานมา

นอกจากนั้น ยังมองว่าช่วงที่เหลือของปี 63 การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก เพราะผู้ประกอบการยังไม่มีความจำเป็นในการหาเงินเพื่อนำมาลงทุน หลังจากชะลอการลงทุนใหม่ๆออกไปก่อน

ส่วนความกังวลการผิดนักชำระหนี้ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงหลังวิกฤตินี้ มองว่าโอกาสมีน้อยมาก เพราะก่อนการออกหุ้นกู้ผู้ออกจะต้องวางแผนรองรับไว้แล้วด้วยการสำรองเงินสดเพียงพอสำหรับการไถ่ถอน และการจ่ายดอกเบี้ย หรือเจรจากับธนาคารเพื่อสำรองไว้ในกรณีขอสินเชื่อเพื่อนำมาไถ่ถอน แต่ที่เกิดความกังวลเกิดขึ้น เพราะปัจจัยโควิด-19 เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายและไม่ได้เตรียมความพร้อมรับมือไว้ จึงเกรงว่าผู้ออกหุ้นกู้จะได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่บางส่วนต้องหยุดไปนาน 1-2 เดือน โดยไม่มีรายได้เข้ามาเลย จึงกังวลเกี่ยวกับความสามารถชำระคืนหนี้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ออกมาตรการกองทุน BSF ออกมา เพื่อช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดไว้ และลดความกังวลของนักลงทุนผู้ถือหน่วย ทำให้ตลาดตราสารหนี้ยังมีความสามารถไปต่อได้ และไม่เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อไปยังภาคการเงินอื่นๆ นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่สร้างความตื่นตระหนกในตตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เกิดแห่ไปไถ่ถอนตราสารหนี้ โดยเฉพาะการถอนเงินออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ทำให้กองทุนตราสารหนี้ปิดไป 4 กองทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดี และมีนักลงทุนสถาบันลงทุนเป็นจำนวนมาก

แต่การที่มูลค่า NAV ซึมลงอย่างรุนแรง ประกอบกับประเมินมูลค่าตราสารหนี้ใหม่ ทำให้นักลงทุนเกิดความตกใจ และรีบไปไถ่ถอน ซึ่งทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง และเกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องตัดสินใจปิดกองทุนตราสารหนี้ เพื่อชะลอการไถ่ถอน และทยอยขายสินทรัพย์มาเพื่อคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วย

โดยระยะเวลาที่เกิดขึ้น 1 เดือนที่ผ่านมา กับการปิด 4 กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารหนี้อื่นๆ ทำให้มูลค่ากองทุนรวมในอุตสาหกรรมหายไป 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนตราสารหนี้ 4 กองทุนที่ปิดไปมูลค่า 3 แสนล้านบาท และกองทุนตราสารหนี้อื่นๆอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินที่ไหลออกมานี้ไหลเข้าไปที่ธนาคารพาณิชย์ และบางส่วนเข้าไปที่ตราสารหนี้ของภาครัฐ

ปัจุบันความผันผวนของตลาดตราสารหนี้เริ่มนิ่งขึ้นมาแล้วประมาณเดือนเศษๆ หลังจากที่ ธปท.ออกมาตรการที่เรียกว่า Mutual Fund Liquidity Facilities (MFLF) มาช่วยรองรับการไถ่ถอนของนักลงทุน ซึ่งให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามารับซื้อหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุน โดยมีเงินสนับสนุนของมาตรการนี้จาก ธปท.ซึ่งมารับซื้อในตลาดรองและได้ใช้เงินจากมาตรการนี้ไป 5 หมื่นล้านบาท และยังเห็นตัวเลขนี้ทรงตัวอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการ Roll Over ของหุ้นกู้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนนั้น ในมุมมองของบลจ.จะดูการคาดการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนหรือไม่ในไตรมาส 3/63 ซึ่งยังไม่มีความมั่นใจได้ในขณะนี้ และการที่ตลาดตราสารหนี้เริ่มมีการปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้มูลค่าเหมาะสมกับความเสี่ยง จึงต้องดูพฤติกรรมของผู้ถือหน่วยว่าเป็นอย่างไร เพราะยอมรับว่าผู้ถือหน่วยอาจจะยังกังวลความผันผวนมากกว่าการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่ผ่านมาเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัย หรือพันธบัตรรัฐบาล และยังไม่กลับเข้ามาที่หุ้นกู้ภาคเอกชน

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์มีความชัดเจนของการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้กลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจปกติแล้ว ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะกลับมาลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนที่เป็น Investment Grade ซึ่งควรเป็นหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาที่ไม่ยาวมาก ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่นักลงทุนคิดว่าเหมาะสมในช่วงเวลาลงทุนหลังผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ