ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 47.2 จากเดือน มี.ค. 63 ที่อยู่ในระดับ 50.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน เม.ย. อยู่ที่ 39.2 ลดลงจากเดือน มี.ค.63 ที่อยู่ในระดับ 41.6
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวจากการปิดกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 46.0 จาก 49.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 56.4 จาก 59.9
ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประทเศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น การสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งมีการขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน (1-31 พ.ค.63)
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ มันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออก, ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงยังรู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น