กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขานรับข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลาง และ ระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังจากหารือร่วมกับนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรมเช้าวันนี้ โดยจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเสนอเข้าครม.สัปดาห์หน้า ขณะที่แพคเกจของธปท.ที่ประกอบด้วย 8 มาตรการจะมีการหารือร่วมกับรมว.คลังเพื่อสรุปขั้นสุดท้ายบ่ายวันพรุ่งนี้ก่อนนำออกมาประกาศใช้
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเสนอมาตรการทั้งหมดที่ได้ข้อสรุปในวันนี้รายงานให้นายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ทั้งมาตรการที่ภาคเอกชนเสนอมาเป็นมาตรการระยะสั้น 7 ข้อ และระยะปานกลางและระยะยาว 4 ข้อ รวมทั้งมาตรการของธปท. คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและประกาศใช้มาตรการบางส่วนได้ในสัปดาห์หน้า
"คิดว่ามาตรการที่เสนอน่าจะทำได้ และจะมีความชัดเจนในวันอังคารที่มีการนำเข้าครม. ที่ทำได้ก่อนน่าจะมีบางส่วนพวกมาตรการระยะสั้น เนื่องจากต้องใช้เวลาและการประสานงาน"นายโฆสิต กล่าวภายหลังการหารือ
*คลังนัดหาข้อสรุปแพคเกจ 8 มาตรการธปท.บ่ายพรุ่งนี้
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า จะหารือกับธปท.อีกครั้งในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ เพื่อหาข้อสรุปมาตรการที่ธปท.เสนอมา และคาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศใช้มาตรการได้บางส่วน เช่น การขยายเวลาถือครองดอลลาร์ และการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการอนุญาตให้ฝากเงินเป็นสกุลต่างประเทศ
"อันไหนทำได้เร็วก็จะทำก่อน ส่วนพวกมาตรการระยะปานกลางและระยะยาวต้องใช้เวลาในการพิจารณา"นายฉลองภพ กล่าว
ขณะที่นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แพคเกจแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ธปท.นำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาประกอบด้วย 8 มาตรการ โดยมาตรการส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับภาคส่งออกเป็นสำคัญ และการถือครองเงินตราต่างประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนให้กับภาคเอกชน และช่วยให้เอกชนมีสภาพคล่องในการบริหารเงินมากขึ้น
มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การอนุญาตให้ถือครองเงินตราต่างประเทศโดยไม่จำกัดเวลา จากเดิมที่ให้ถือครองได้แค่ 14 วัน
นอกจากนั้น ยังจะอนุญาตให้คนไทยสามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งจะต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อีกครั้ง และให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีในรูปเงินตราต่างประเทศได้ โดยกำหนดวงเงินสำหรับบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ
นางธาริษา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีเงินต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่มีเงินที่ไหลออกไปน้อยมาก จึงจำเป็นต้องหาช่องทางในการบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การเข้าและออกของเงินสมดุลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.ยังยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีแผนจะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% หรือการทำประกันความเสี่ยงสำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้น เพราะยังมีผลในด้านจิตวิทยา
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--