นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมหารือมาตรการเยียวยาเกษตรกร ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้เป็นวิกฤติ แต่ต้องถือเป็นโอกาสสำคัญ ประเทศไทยมีเวลาไม่มาก จึงได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ไปคิดโครงการเพื่อดูแลเศรษฐกิจชุมชน โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ภายในปลายเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการที่จะเสนอขอใช้เงิน พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประกาศหลักเกณฑ์ จะได้เสนอโครงการเพื่อให้เดินหน้าได้ทันที เพราะเดือนหน้าต้องมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยโครงการจะต้องเดินหน้าได้ทันที
จากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2563 ไม่ดี ส่วนในไตรมาส 2/2563 ก็ยังหน้าเป็นห่วง เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องภาคการส่งออก การท่องเที่ยวในวิกฤตการณ์แบบนี้เลย ดังนั้นจึงเหลือเพียงเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าอยากให้มีงบประมาณที่สามารถทำให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้
นายสมคิด กล่าวว่า โครงการที่จะออกมาจะต้องคิดในเชิงปฏิบัติมากกว่าเชิงทฤษฎี เพราะเกษตรกรมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว และแรงงานที่กลับสู่ชนบท ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโครงการอบรม เพื่อให้แรงงานที่กลับสู่ชนบทได้รู้ว่าทำเกษตรอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง
"ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องชี้แจงให้ได้ว่าการอบรมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้น คนที่กลับชนบทซึ่งไม่เคยทำเกษตรเลยจะทำได้อย่างไร ต้องออกแบบเป็นขั้นบันไดว่า ขั้นแรกแต่ละจังหวัดจะจัดอบรมที่ไหน กี่คน อบรมอะไร และจ้างมาอบรมด้วย นี่คือหนทางที่สร้างให้เขามีรายได้ขึ้นมา เพราะเจตนาดั้งเดิมคือให้คนมีรายได้ มีงาน โดยโครงการอบรมไม่จำเป็นต้องเป็นด้านเกษตรอย่างเดียว มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เรื่องเทคโนโลยี ให้เขารอบรู้ในการอบรมแต่ละเรื่อง เรียกว่าจ้างมาเรียน และขั้นต่อไป คนที่อบรมแล้วจะมีโอกาสเข้าไปทำเกษตร เรื่องสินเชื่อก็ต้องตามมา ธ.ก.ส.ต้องเข้าไปรองรับเรื่องนี้ และประสานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ" นายสมคิด กล่าว
สำหรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 1 ปีข้างหน้า นายสมคิด กล่าวว่า มีแกนหลักสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างสมดุลกับเศรษฐกิจภายนอก โดยการเชื่อมโยงทั้งภาคการผลิต การตลาด การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน 2.การสร้างดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ และ 3.ด้านการต่างประเทศ การผลักดันเป็นศูนย์กลาง โดยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้วิกฤตในขณะนี้เป็นโอกาสในสร้างความเข้มแข็งของทั้ง 3 แกนหลักขึ้นมา
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากข้อมูลของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานประมาณ 7.1 ล้านคน ซึ่งมีการประเมินว่าแรงงานในส่วนนี้จะเดินทางกลับสู่ชนบทประมาณ 4 ล้านคน และพบว่าในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีแรงงานประมาณ 8 แสนคนที่ยังกลับเข้าเมืองไม่ได้ เพราะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ดังนั้น ธ.ก.ส.ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่ากลุ่มแรงงานที่กลับสู่ชนบทนี้ต้องการทำอะไร โดยส่วนใหญ่อยากทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ รองลงมาอยากทำเกษตรอินทรีย์
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเสนอจัดตั้งกองทุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนสร้างไทย วงเงินงบประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ที่กลับสู่ชนบท เพื่อให้เกิดภาพเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและมั่นคง และถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปภาคเกษตรกรให้เป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนปูพรมทั้งประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนและครัวเรือน
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนสร้างไทย วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะดำเนินการผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน (ตั้งหลัก) ใช้งบประมาณ 720 ล้านบาท ในการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบ e-leaning สำหรับเกษตรกร 3 แสนราย สนับสนุนการพัฒนาฐานเรียนรู้ 1.2 พันแห่ง และสนับสนุนการศึกษาดูงาน ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้ New Gen 7 แสนบาทต่อราย หรือเป็นวงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท
2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน (ตั้งฐาน) ใช้งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ในการสนับสนุนลงทุนปัจจัยพื้นฐานไม่เกิน 50% และไม่เกิน 1 ล้านบาท สนับสนุนปรับเปลี่ยนการผลิตไม่เกิน 50% ของปีแรก และไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นแห่ง และ 3. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ใช้งบประมาณ 2.17 หมื่นล้านบาท โดยสนับสนุนสถาบันเกษตรกร 7.25 พันแห่ง ลงทุนในปัจจัยพื้นฐานไม่เกิน 50% ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกินแห่งละ 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเกษตรกรผ่านโครงการสินเชื่อวงเงินรวม 4.8 แสนล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉิน 2 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 1 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด 6 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 5 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร 4 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยโครงการสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด และสินเชื่อ Jump Start Credit ต้องเสนอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อน
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ธ.ก.ส.ต้องกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเติมเงินผ่านโครงการสินเชื่อ คือ ต้องสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การช่วยเหลือด้านทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย ต้องคิดออกมาเป็นแพคเก็จว่าจะทำอย่างไร เริ่มอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไป