กูรูแนะลูกหนี้รับมือโควิด ปรับสมดุลใช้วิถีพอเพียง-ลดรายจ่าย-ปรึกษาสถาบันการเงินลดผลกระทบชำระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 8, 2020 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ "รับมืออย่างไรในม่านหมอกของโควิด-19 ที่สถานการณ์ทำให้หลายคนรายได้ลดลง แต่มีภาระหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ สร้างผลกระทบต่อภาพรวมการจ้างงานอย่างมาก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีมีการเลิกจ้างงานไปแล้วค่อนข้างมาก และยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งเกิดผลกระทบหนักขึ้น เนื่องจากหลายธุรกิจจำเป็นต้องมีการปิดให้บริการ ส่งผลให้แรงงานที่มีรายได้ประจำที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการผิดนัดชำระสินเชื่อ ปัจจุบันเริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถาบันทางการเงินได้รับนโยบายต่างๆจากภาครัฐให้ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ อาทิ การพักเงินต้นและดอกเบี้ย การลดอัตราชำระขั้นต่ำ รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ย

นางสาวญาณี ให้คำแนะนำว่า ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอน หากพบว่าตนเองไม่สามารถชำระหนี้ได้ให้ปรึกษากับสถาบันทางการเงินที่ใช้บริการอยู่ หากจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อที่จะช่วยเหลือนั้น ยืนยันว่าจะไม่มีผลต่อเครดิตบูโรแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าหากมีความสามารถในการชำระหนี้ให้ชำระหนี้ตามปกติ

ขณะที่นายณัฐพงษ์ อภินันท์กูล นักวางแผนการเงิน (CFP) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ยังมีหนี้ที่จำเป็นต้องชำระแต่รายได้ลดลงจะต้องดำเนินการโดยหลัก 3S ในการจัดการหนี้ส่วนบุคคล 1.Survive คือต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย หนี้สินที่มีอยู่ต้องลดลงไม่ใช่เพิ่มขึ้น 2.Sufficent ใช้ชีวิตสมดุลตามหลักปรัชญาพอเพียง 3.Sustain ยั่งยืน

ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันไม่แนะนำให้ไปนำเงินเก็บระยะยาวออกมาใช้ เนื่องจากมีผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดี แต่อย่างไรก็ตามแนะนำว่าควรจะลดรายจ่ายลงให้เหลือเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น เพิ่มรายได้ เพิ่มทักษะ และทบทวนสถานเป็นระยะๆ ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ภาคการเกษตรเดิมที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนปัจจุบันได้รับผลกระทบให้มีรายได้ปรับตัวลดลงกว่า 40% โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากภัยธรรมชาติ ต่อด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันมีครอบครัวเกษตรกรที่ใช้บริการกับทาง ธ.ก.ส. ทั้งหมด 6.1 ล้านราย โดยภาครัฐได้มีวงเงินกู้ Soft Loan ฉุกเฉินสำหรับภาคการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรเข้ามาใช้บริการสินเชื่อแล้วกว่า 1.87 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบค่อนข้างมากในปัจจุบัน และมองว่าหลังจากนี้จะต้องมีแผนการฟื้นฟูระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ขณะที่ล่าสุด ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรทั้งหมด 3.6 ล้านราย ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท รวมไปถึงการให้เงินเยียวยารายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน แก่เกษตรกรทั้งหมด 10 ล้านราย เป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และมาตรการสุดท้ายคือการระบายพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร เป็นต้น สำหรับลูกค้าของ ธ.ก.ส.แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้ประกอบการ ในส่วนนี้จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องเพื่อที่จะให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ต่อมาคือเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเกษตรกรของประเทศไทยให้ดีขึ้น เพื่อที่จะให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการหนี้เป็น รวมไปถึงการพัฒนาการใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในช่วงที่รัฐบาลพักการชำระหนี้ให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ