เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า เจ้าของโรงแรมทั่วเอเชียกำลังมองหาแหล่งเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ยอดผู้เข้าพักที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการปิดพรมแดน และสายการบินหยุดให้บริการ ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับต้นทุนคงที่
นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยากรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุน หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอลกล่าวว่า "ในกรณีของประเทศไทย คาดว่า เจ้าของโรงแรมจะให้ความสนใจการกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงินเพื่อให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ หัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆของไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยในสถานการณ์ปกติโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ตและเกาะสมุยจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าใช้บริการห้องพักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-85%"โรงแรมไม่ได้เป็นภาคธุรกิจเดียวที่มีความต้องการเงินกู้มากขึ้นยังมีภาคธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคธุรกิจในขณะที่สถาบันการเงินโดยทั่วไปใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่มีความผันผวนสูง
ทางด้านนายอดัม บิวรีย์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุน และนายคอรีย์ ฮามาบาตะ ผู้ช่วยกรรมการอาวุโส หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า มาตรการห้ามการเดินทางบีบให้เจ้าของโรงแรมต้องมองหาทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจการกู้ยืมในตลาด เนื่องจากตลาดการลงทุนยังคงมีเม็ดเงินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
ในเอเชีย มีโรงแรมเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีอัตราการเข้าพักในระดับที่น่าพึงพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่พักสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะการกักตัว หรือใช้เพื่อรองรับมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐฯ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะสามารถมีรายได้ให้ถึงจุดคุ้มทุน หรือเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้ โดยทั่วไปแล้ว โรงแรมเป็นภาคธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นภาคธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นจนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมา
แม้เจ้าของโรงแรมบางรายจะมีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว หรือเปิดให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องกักกันตัว แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอกับต้นทุนและค่าใช้จ่าย จากการวิเคราะห์ของเจแอลแอล พบว่า ตลาดการกู้ยืมอาจชะงักเนื่องด้วยสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถอนุมัติการให้กู้ยืมในสถานการณ์วิกฤตการณ์นี้
นายบิวรีย์กล่าวว่า "จากการพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมและสถาบันการเงินทั่วภูมิภาค เราพบว่า ทั้งสองฝ่ายมีความพยายามร่วมกันในการบรรเทาสถานการณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะการผิดนัดชำระหนี้หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้น เจ้าของโรงแรมหลายรายได้เร่งขอขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกิจและรับมือกับภาวะธุรกิจตกต่ำไปจนกว่าความต้องการจะฟื้นตัว โดยเจ้าของโรงแรมที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ในหัวเมืองรีสอร์ทที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง"
ในส่วนของภาคธนาคารนั้น พบว่า เพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ยินดีที่จะพิจารณาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะขยายวงเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหา
ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวเมื่อใด ดังนั้น การผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ระยะสั้นจึงอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เจ้าของโรงแรมหลายรายสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในขณะนี้ไปได้ และอาจต้องอาศัยเงินทุนเข้ามาเสริม