นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ในสมัยที่มีการลดค่าเงินบาทเมื่อ 10 ปีก่อน กล่าวในวันนี้ว่า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 เพียง 6-7 ปี ประเทศไทยสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างไร จนกระทั่งถึงขณะนี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากช่วงเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทเป็นไปตามของเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์สุกงอมแล้ว และแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งรมว.คลังในขณะนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ห้ามการดำเนินการของ ธปท.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 3 ปีก่อนที่จะมีการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทอยู่ในยุคฟองสบู่ใกล้แตก การวางแผนแก้ไขปัญหาไม่เป็นระบบและไม่ได้ผล แม้ ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดกระแสการเก็งกำไรของค่าเงินต่างๆ แต่การแก้ไขไม่ได้ผลเพราะมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากเกินไป ดังนั้นการเข้าไปรับตำแหน่งรมว.คลังในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีทางเลือกในการแก้ปัญหามากนัก
"ตอนที่เข้าไปทางเลือกมันไม่มี ผมเข้าไป แบงก์ชาติก็หมดกระเป๋าแล้ว มันต้องมีใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจที่จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน...ผมเข้าใจว่ามันเป็นรับใช้ชาติที่เจ็บปวด แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร" นายทนง กล่าวในวันครบรอบ 10 ปีลดค่าเงินบาท
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า หากปล่อยให้ภาวะเป็นเช่นนั้นต่อไปจะส่งผลให้การค้าต่างประเทศต้องขาดดุลปีละ 3-4 แสนล้านบาท ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าได้เปรียบผู้ส่งออกก็ยิ่งทำให้สภาวะเศรษฐกิจยิ่งแย่ลงเพราะค่าเงินบาทแข็งกว่าความเป็นจริง โดยการเก็งกำไรค่าเงินในเวลานั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนในที่ดิน ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฝากกินดอกเบี้ย
"(การลอยตัวค่าเงินบาท)คิดว่าต้องเจ็บ เหมือนการผ่าตัดมะเร็ง และที่ผมตัดสินใจไปก็รู้ดีว่าไม่รู้จะโดนอะไรบ้างเท่านั้น ทั้งส่วนตัวและครอบครัว เพราะจะมีทั้งคนได้และคนเสีย แต่ไม่มีทางเลือกแล้ว" นายทนง กล่าว
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า จุดเสี่ยงของการบริหารเศรษฐกิจมาจาก 2 ส่วน คือ การบริหารในประเทศ และการบริหารภาคใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นความยากที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขอยืนยันได้ว่าในระยะสั้นจะไม่เกิดวิกฤต เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งมาก แม้จะมีปัญหาความผันผวนทางการเมืองแต่เศรษฐกิจยังโต 4-4.5% แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้จีดีพีสูงมากเกินไปจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ส่วนข้อกังวลเรื่องผลกระทบจากกระแสเงินลงทุนนั้นคงจะไปห้ามไม่ได้เพราะจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารการเคลื่อนไหวกระแสเงินทุนไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะนักลงทุนต้องแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด
"ถ้าเราไปวางรั้วกันแสดงว่ามีจุดอ่อนแล้ว เขาก็จะพยายามหาจุดอ่อนที่จะทำลายรั้วนั้น" นายทนง กล่าว
ขณะที่ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่าความผันผวนที่เกิดจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศมีอยู่มาก ซึ่งจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีกลไกลและเครื่องมือตั้งรับที่ดีและมีมาก ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีจุดสำคัญคือการลดค่าเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค.40
ตามที่นักวิชาการกังวลว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่อันเนื่องมาจากความผันผวนค่าเงินที่รับผลกระทบมาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกนั้น ขณะนี้สภาพเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างจาก 10 ปีก่อน จากที่เคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ต่อจีดีพี หรือ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 80% เป็นหนี้ระยะสั้น เมื่อเกิดวิกฤติแล้วต้องเร่งคืนหนี้ ทำให้ทุนสำรองของประเทศลดลงอย่างมากจนกระทั่งเกิดวิกฤติ
แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มั่นคงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ต่างประเทศลดลงเหลือ 5.8 หมื่นล้านบาท โครงสร้างหนี้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น มาเป็นหนี้ระะยะยาว ทำให้สภาพความแข็งแกร่งมีมากขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมาก
นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งยังมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่เน้นการเติบโตปีละ 8-10% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างไม่ยั่งยืนมาเป็นไม่เร่งการเติบโต แต่เน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยให้อัตราการเติบโตและเงินเฟ้อมีความสอดคล้องกัน ขณะที่ภาคธุรกิจก็ได้เร่งปรับตัวขึ้นมาก มีโครงสร้างและฐานะแข็งแกร่ง มีระบบรองรับความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถรองรับได้
สำหรับนโยบายการเงินขณะนี้ นางธาริษา กล่าวว่า มาถูกทางแล้ว
"ทุกอย่างยืนอยู่บนความไม่เกินกำลัง"นางธาริษา กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--