นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน ในส่วนของกรอบการใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยพิจารณาจากสถานการณ์ภายนอกและภายในประเทศ ทำให้ไทยหันมาเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมที่ให้ความสำคัญเน้นการส่งออกสร้างการเติบโตในประเทศ เน้นการท่องเที่ยวสร้างรายได้ แต่หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 เราได้ถอดบทเรียน และ ครม.ได้อนุมัติแนวทางการดำเนินการใช้เงินกู้ดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ
การใช้เงินกู้จึงต้องเป็นหัวเชื้อในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยคาดการณ์ว่าเงินกู้จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในเดือน ก.ค. หรือช่วงไตรมาส 3/63 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป และเงินกู้จะรองรับสถานการณ์ภัยแล้งต่างๆ เกิดขึ้นด้วย เพราะจะมีงบลงภาคการเกษตร ช่วยแหล่งน้ำชุมชนต่างๆ
"อีกประการที่อยากเน้นย้ำ คือ กรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด เราจะเลือกเฉพาะโครงการสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ สำคัญที่สุดคือการใช้จ่ายเงินต้องเน้นความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในระบบออนไลน์ ข้อมูลต่างๆ ก็จะลงสู่ในเว็บไซต์ มีผู้ตรวจราชการ มีผู้ตรวจภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา ช่วยกันทำงานในพื้นที่ และร่วมกันเป็นหูเป็นตา ดูแลให้เกิดความโปร่งใส เราอยากให้เห็นการพัฒนาประเทศโฉมใหม่ที่ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป" นายทศพร กล่าว
ทั้งนี้ การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทจะพยายามสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเน้น 2 เรื่องหลัก คือ 1.สร้างความเข้มแข็งอนาคตของประเทศ จากสถานการณ์โควิด เน้นเรื่องการสร้างความได้เปรียบเกี่ยวกับเกษตรแปรรูปและเรื่องอาหาร 2.สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
"เราจะใช้เงินก้อนนี้ ทำให้เกิดเกษตรสมัยใหม่ และเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ รักษาธรรมชาติ นอกจากนั้นอีกจุดที่สำคัญคือให้ความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก เรามองว่าแรงงานส่วนหนึ่งจะกลับภูมิลำเนา จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับ จึงต้องใช้เงินกู้สร้างเศรษฐกิจชุมชุน เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน รองรับแรงงานกลับเข้าสู่ภูมิลำเนาต่อไป" นายทศพร กล่าว
นายทศพร กล่าวด้วยว่า หัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน ไม่เน้นเชิงปริมาณ และจะไม่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต แต่จะเน้นความมั่นคงยั่งยืนของประเทศทำให้ทุกคนสามารถยืนได้ด้วยความมั่นคง เพราะเรามองภาพชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เราต้องทำให้เศรษฐกิจไทยยืนอยู่ได้ในอนาคต
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นวงเงินที่จะนำไปสร้างกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่ในเวลานี้กลับมาฟื้นตัวได้บ้าง จากนั้นจะต้องใช้งบประมาณประจำปี 2564-2565 เป็นแรงหนุนส่งให้เศรษฐกิจให้ดีขึ้นในช่วง 2 ปีถัดไป