นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า จะเสนอแผนและรายละเอียดการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ทางถนน เช่น การนำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) และเสาหลักนำทางยางพารา เพื่อขออนุมัติร่างบันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรผลิตตรงให้กับกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยไม่ผ่านบริษัท หรือนายหน้าใดๆ
สำหรับแผนดำเนินงานใน 3 ปี (2563-2565) เป้าหมายจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 3 แสนตัน ดำเนินการถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไประยะทางประมาณ 12,000 กม. ที่เป็นเกาะสี หรือไม่มีเกาะกลางถนน โดยแบ่งเป็นถนนของกรมทางหลวง 10,400 กม. และกรมทางหลวงชนบท 1,600 กม.
โดยการนำร่องในปี 2563 ซึ่งมีงบประมาณจัดสรรแล้วสำหรับถนนผิวลาดยางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (PARA AC) จะมีการ พิจารณางบประมาณส่วนที่เหลือจากการขอเปลี่ยนแปลงการดำเนินการเป็นถนน ผิวทางแอสฟัลต์ซีเมนต์ (AC) เพื่อนำมาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางยางพารา
ส่วนการพัฒนานำยางพารามาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางนั้น เป็นการสร้างความต้องการในการใช้น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ เนื่องจากการใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนนที่ผ่านมา เปรียบเทียบงบประมาณ 100 บาท จะถึงมือเกษตรกรประมาณ 5.10 บาท หรือ 5.1% เท่านั้นขณะที่ การนำยางพารามาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำ เม็ดเงินจะถึงมือเกษตรกรถึง 70 บาทหรือ 70%ขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีส่งผลในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่เพิ่มขึ้น อีกด้วย