นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปรับตัวธุรกิจรายสาขาที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานได้พิจารณาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าด้วยการเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องของจำนวนเงินกองทุน และ หลักเกณฑ์ วิธีการในการปล่อยสินเชื่อ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ที่ประชุม 3 สมาคมไปหารือในรายละเอียดแล้วเสนอเข้าสู่คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันที่ 23 ก.ค.นี้
"เรื่องนี้เป็นสถานการณ์เร่งด่วน หากตกลงหลักเกณฑ์วิธีการได้แล้ว ก็ต้องรีบสรุป คาดว่าสัปดาห์หน้าคงจะใช้ได้" นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม การบริหารน่าจะเป็นลักษณะ"แมทชิ่ง ฟันด์" โดยมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งและจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่ง
นายอาคม กล่าวว่า ยังมีธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน ประเภทไม่มีทักษะเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลในปี 49 มีธุรกิจที่น่าเป็นห่วง 2 สาขา คือ ธุรกิจอาหาร ที่มีความต้องการแรงงานไม่มีทักษะ 7.6 หมื่นคน แต่ยังขาดแคลนอยู่ถึง 7.4 หมื่นคน และธุรกิจสิ่งทอ ต้องการแรงงาน 1.16 แสนคน แต่สามารถจัดหาแรงงานได้เพียง 5 หมื่นคนเท่านั้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลืออุตสาหกรรมหลายสาขาที่ได้รับผลกระทบในเรืองอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ปัญหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.เลื่อยยนต์ อุตสาหกรรมอาหารมีปัญหาเรื่องการตัดราคา และอุตสาหรกรมไฟฟ้าที่ประสบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูก
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาสายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องของกองทุนที่ประชุมได้หารือกันแล้วต่อรองขอให้ใช้กองทุนจำนวน 500 ล้านบาท แต่สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่า วงเงินดังกล่าวจะไม่เพียงพอน่าจะเป็น 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ควรเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนดังกล่าวอย่างน้อย 10% เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อ
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--