นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม กล่าวในการเสวนาหังข้อ "Economic Update-Vietnam สถานการณ์รับมือโควิดและสภาวะเศรษฐกิจ"ว่า เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี หลังจากที่เริ่มมีการรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นในช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามที่มีอำนาจในในการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จตัดสินใจออกมาตรการป้องกันและล็อกดาวน์ในทันที จึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่เพียง 238 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต โดยปัจจุบันเวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว และมีผู้ที่รักษาอาการป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 3 คนเท่านั้น
ด้านผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปี 63 ถือว่าไม่มากนัก เนื่องจากการที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะยังคงเติบโตได้ที่ 5% แม้ว่าจะลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 7% ไปบ้างจากผลกระทบของการล็อกดาวน์ประเทศที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปชั่วคราวระยะหนึ่ง โดยไตรมาส 1/63 เติบโต 3.8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี แต่ถือว่ายังเห็นการเติบโตได้จากการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคม สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ
หากมองภาพประเทศเวียดนามหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตาในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว จากการผลักดันการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนามที่สนับสนุนการลงทุนต่างๆ จากต่างประเทศให้เข้ามา รวมถึงการทำข้อตกลง FTA กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเข้าร่วมใน CPTPP ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปขายในกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ ประชากรของเวียดนามที่มีอยู่มากกว่า 96 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่เริ่มทำงาน มีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้การบริโภคภายในประเทศยังมีแนวโน้มที่เติบโตสูงในอนาคต ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตขึ้นได้ และเศรษฐกิจมีความสมดุลจากเศรษฐกิจภายในและภายนอกที่เสริมซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม นายธาราบดี กล่าวว่า การที่นักธุรกิจต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะมุมมองของนักธุรกิจไทย เพราะพฤติกรรมและวัฒนธรรมของคนเวียดนามมีความแตกต่างจากลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเวียดนามค่อนข้างเข้มงวดมาก เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีความตั้งใจในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด
ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรจะต้องศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม วัฒนธรรม กฎหมายข้อบังคับ และควรมีพันธมิตรท้องถิ่น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญในการเข้ามาลงทุน รวมถึงต้องมีความอดทน เพราะส่วนใหญ่กว่าที่จะสร้างกำไรได้อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 3-4 ปี ถือว่าเป็นประเทศที่มีความท้าทายในการลงทุน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อัตราดอกเบี้ยของเวียดนามสูงกว่าไทย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนในเวียดนามอยู่ที่ 3% ต่อปี และ 12 เดือนอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นไปมากกว่า 9% ต่อปี เป็นต้น
ส่วนธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามมองว่าเป็นธุรกิจที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานจากถ่านหินที่สร้างมลพิษ และ PM 2.5 จึงสนับสนุนการลงทุนพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์และลม โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 80,000-90,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 48,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคและบริโภคยังมีโอกาสขยายตลาดในเวียดนามได้ แต่ต้องรีบเข้ามาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคนเวียดนามก่อน โดยธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคจะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวสอดคล้องไปกับการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศเวียดนามที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะจำนวนประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวทำงานมีรายได้และมีความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มนี้มาก
รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรปและสหรัฐฯ และอยู่ระหว่างมองหาประเทศที่มีต้นทุนการผลิตถูกลง และสิทธิพิเศษทางภาษี โดยเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิต เพราะค่าแรงถูกกว่าไทย และมี FTA ในการส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตลดต้นทุนลงได้ และช่วยธุรกิจให้มีกำไรมากขึ้น
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศเวียดนาม ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมาก แต่สามารถขายที่อยู่อาศัยไปได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในตลาดระดับกลางที่เจาะกลุ่มคนทำงานที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เพราะซัพพลายที่อยู่อาศัยในเวียดนามในปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก และยังมีความต้องการซื้ออยู่อีกมาก
แต่อาจจะมีอุปสรรคในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ล่าช้า จากการที่รัฐบาลเวียดนามป้องกันโอกาสเกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การอนุมัติโครงการต่างๆ ล่าช้า และทางรัฐบาลเวียดนามเข้ามาควบคุมธนาคารในประเทศเวียดนามให้ชะลอการปล่อยสินเชื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เพื่อชะลอการขยายตัวไม่ให้เร็วเกินไป ประกอบกับราคาที่ดินในเวียดนามสูงกว่าในไทยมาก เป็นอุปสรรคในการเข้ามาทำธุรกิจนี้ แม้จะมีความต้องการซื้อที่สูงก็ตาม
ด้านตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาวมองว่าจะมีการเติบโตขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และทางรัฐบาลพยายามผลักดันให้ตลาดหุ้นวียดนามก้าวขึ้นไปเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Market จากปัจจุบันที่ยังเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม Frontier Market ซึ่งหากถูกยกระดับขึ้นไปได้ก็จะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเติบโตขึ้นอีก 30-40% และจะมีเงินไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบตลาดหุ้นเวียดนามเช่นเดียวกับประเทศอื่น จากเดิมที่ดัชนีอยู่ที่ 800 จุด ลดลงไปเหลือต่ำสุด 600 จุด และดีดกลับขึ้นมาที่ 780 จุดในปัจจุบัน จะเห็นว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการเติบโต และหากเศรษฐกิจในประเทศเวียดนามเติบโตขึ้น บริษัทจดทะเบียนในประเทศเวียดนามก็จะเติบโตตามไปด้วย ช่วยสร้างความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามในอนาคตมากขึ้น