ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้หากการลงทุนกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนศก.บาทจะอ่อนค่าลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2007 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เบื้องหลังของการที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี น่าจะมาจากผู้ส่งออกซึ่งถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเงินบาทในประเทศ(Onshore) เร่งเทขายเงินดอลลาร์อย่างหนัก เพราะกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากอีกในอนาคตและจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทมากไปกว่านี้ 
นอกจากนี้เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องยังมากจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่เข้าสู่ตลาดหุ้นไทย แต่ไม่ใช่เป็นเพราะมาตรการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่อนุญาตให้ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(Non Resident) ย้ายการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงมาทำกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
ทั้งนี้ในขณะที่เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่องโดยมีแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยข้างต้นแล้ว เงินดอลลาร์เองยังอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักหลายสกุล นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยลบที่สำคัญอีกปัจจัยที่ร่วมกดดันเงินดอลล่าร์ให้อ่อนค่าลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นเงินบาทยังมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้อีกจากปัจจัยด้านการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเสถียรภาพของเงินบาทเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ ธปท.ต้องเฝ้าระวังและติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด
โดยธปท.ได้แสดงจุดยืนนี้ด้วยการแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย พร้อมกับการออกมาตรการปิดช่องการเก็งกำไรเงินบาทเพื่อลดแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินบาทที่ไม่ได้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงของธปท.จึงไม่ใช่เพื่อกำหนดเป้าหมายหรือระดับที่เหมาะสมของเงินบาท หรือเป็นการบ่งชี้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปถึงเท่าใด แต่สิ่งที่ธปท.ต้องการคือ ดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาในการปรับตัวมากกว่า
ส่วนระยะถัดไปหากการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นตลอดจนแนวโน้มของมาตรการด้านการคลังของรัฐบาลใหม่ที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นกลับมา ซึ่งเมื่อการลงทุนกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งก็จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร วัตถุดิบให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฐานะการเกินดุลการค้าลดลงและทำให้เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงจากระดับปัจจุบันได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ