(เพิ่มเติม2) "โกร่ง"แนะกนง.ลดดอกเบี้ยรวดเดียว 1.0-1.5% มองบาทเหมาะสมที่ 36 บ./ดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2007 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรมว.คลัง และอดีตประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)เสนอแนะแนวคิดให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวดเดียว 1.0-1.5% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเข้าขั้นวิกฤติ โดยมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ 
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวดเดียวเพื่อให้มีผลดึงเงินบาทอ่อนค่าโดยเร็ว และกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ขณะที่จะต้องเข้าแทรกแซงเงินบาทให้มากเพียงพอที่จะทำให้บาทไม่กลับมาแข็งค่าอีก พร้อมทั้งออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องในตลาด และยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เพราะทำให้ตลาดมีความบิดเบือน
นอกจากนั้น ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ควรจะอาศัยจังหวะบาทแข็งค่าเร่งชำระหนี้ต่างประเทศ และรีไฟแนนซ์ เพราะขณะนี้หนี้ต่างประเทศสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หากมีการชำระคืนจะช่วยพลิกสถานการณ์ทำให้บาทอ่อนค่าได้ รวมทั้งเร่งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องผ่อนปรนกฎเกณฑ์ หรือออกกฎกระเบียบพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นโดยเร็ว
"แบงก์ชาติควรจะออกมาตรการตรง ๆ อย่าอ้อมเหมือนที่ผ่านมา เพราะการออกแบบอ้อมมี effect มากกว่าทางตรง"นายวีรพงษ์ กล่าวในการสัมมนา"วิกฤติค่าเงินบาท:ปัญหาและแนวทางแก้ไข"
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้ว และหากธุรกิจส่งออกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า อยู่ไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสถาบันการเงินให้อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะ NPLs จะเพิ่มสูงขึ้นมาก และยังกระทบไปยังผู้นำเข้า ผู้ผลิต และภาคเกษตรกร จึงไม่ควรมองว่าเป็นปัญหาของส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่การส่งออกยังจำเป็นต่อประเทศ
"ปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข ปัญหาขณะนี้แค่แบงก์ชาติอย่างเดียวคงแก้ไขไม่ได้ แต่จะต้องอาศัยรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีลงมาแก้ไขปัญหา"นายวีรพงษ์ กล่าว
"แต่เดิมมองว่าวิกฤติค่าเงินจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ แต่หลายคนบอกว่าน่าจะเร็วกว่านั้น เพราะบาทแข็งเร็วมาก ประกอบกับปัญหางบดุลของบริษัทก็เกิดมานานแล้ว โรงงานก็ทยอยปิดตั้งแต่ปีกลาย ปัญหาก็จะลามไปที่ผู้ผลิตและไปจบลงที่แบงก์"
ภาครัฐควรจะปรับทัศนคติในการดูแลค่าเงินบาท โดยเฉพาะการมองว่าบาทแข็งค่าจะกระทบเศษฐกิจในระยะสั้นนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาวได้ และการออกมาบอกว่าทางการดูแลอย่างเต็มที่แล้ว เอกชนควรจะปรับตัวเองนั้น มองว่าเป็นการให้ท้ายนักเก็งกำไร
"หากไม่ทำอะไรเลยก็จะกระทบผู้ส่งออก ผู้ผลิต และในที่สุดก็ถึงชาวไร่ชาวนา สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ตลาดเชื่อว่าบาทจะไม่แข็งไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์อย่างที่มีหลายฝ่ายกังวล" นางวีรพงษ์ กล่าว
อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยมีการตั้งเป้าหมายค่าเงินบาทที่ชัดเจน เชื่อว่าจะไม่ทำให้ธปท.ขาดทุนและเผลอ ๆ อาจจะได้กำไรด้วย ซึ่งการแทรกแซงค่าเงินต้องอาศัยเงื่อนไข 2 อย่าง คือ อาจต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก แต่ก็สามารถนำเงินดอลลาร์ที่ซื้อมาไปลงทุนในรูปแบบอื่น เช่นการนำไปฝากที่ตลาดต่างประเทศก็ได้
และ ธปท.เองก็ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องไปด้วย เพื่อไม่ให้มีปริมาณเงินในระบบมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะต้องให้การสนับสนุนในการอนุมัติวงเงินการออกพันธบัตรอย่างเต็มที่ เพราะหากมีข้อจำกัดก็จะทำให้ธปท.เกิดภาวะขาดทุน
เงื่อนไขที่ 2 คือ เมื่อแทรกแซงไปแล้วหากเงินบาทยังแข็งค่าต่อ ก็อาจจะต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ถ้าจะทำก็ต้องทำให้มากพอที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าเงินบาทจะไม่กลับมาแข็งค่าอีก ซึ่งการแทรกแซงค่าเงินบาทที่แข็งค่าให้อ่อนค่าลงจะไม่กระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตรงข้ามกับการทำให้บาทอ่อนกลับไปแข็งค่า
"สุดท้ายเราจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดไม่ได้ เพราะกลไกตลาดเป็นตัวชี้นำอนาคตไม่ได้ แต่เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากกลไกตลาด เรื่องแทรกแซงอาจจะทำแล้วโดนไอเอ็มเอฟดุบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร"นายวีรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ