นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนพ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 68.33 จุด เพิ่มขึ้น 0.40 จุด หรือคิดเป็น 0.59% เมื่อเทียบกับ เม.ย.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.93 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
ส่วนความต้องการซื้อทองคำช่วงเดือนพ.ค.63 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 303 ตัวอย่าง พบว่า 40.93% ยังไม่ตัดสินใจซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 37.29% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ และอีก 21.78% คาดว่าจะซื้อทองคำ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 10 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนพ.ค.63 จะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 5 ราย และคาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน เม.ย.63 มี 3 ราย ส่วนที่คาดว่าราคาทองคำจะลดลง มี 2 ราย สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือนพ.ค.63 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ พบว่า Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,646 - 1,761 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 25,200 - 26,700 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทยให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.06 - 32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนทองคำในเดือน พ.ค.63 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำในเดือนที่ผ่านมาสร้างสถิติสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีครึ่ง แม้ว่าจะมีแรงขายทำกำไรสลับออกมาบ้าง แต่ยังคงพยายามรักษาระดับไว้ ทั้งนี้ประเมินว่าราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวภายในกรอบที่บริเวณ 1,646 - 1,761 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
พร้อมแนะให้ติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลังการพิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ของมาตรการปิดเมือง (Lock Down) หากนโยบายการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง สามารถดำเนินการอย่างราบรื่น จะทำให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น แต่หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ รวมทั้งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น ตลาดเงิน และตลาดทุน รวมทั้งตลาดทองคำอาจเกิดความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนด้วย