SEACENห่วงการเคลื่อนย้ายเงินทุน เร่งทุกปท.หามาตรการมีประสิทธิภาพรับมือ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 29, 2007 20:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวในการสัมมนาผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Central Banks : SEACEN) ถึงความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ รวมทั้งความสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาคและการพัฒนาตลาดการเงิน และเห็นว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ผู้กำหนดนโยบายจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันหรือรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ยอมรับว่า ไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพการเงินจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และความผันผวนดังกล่าวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการกำหนดนโยบายในระยะต่อไป ซึ่งประเทศเกิดใหม่มีโอกาสที่จะเผชิญกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากตลาดการเงินในประเทศยังมีขนาดเล็กและทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศสมาชิกตระหนักว่าแม้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจะให้ประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันทำให้มีความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมโยงของตลาดการเงินที่สูงขึ้น อีกทั้งผลที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับตัวอย่างฉับพลันของภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และการไหลออกของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการปรับตัวของธุรกรรมการเงินที่เกิดจากการเก็งกำไรในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ
ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันว่า การจะบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ได้จะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเงินในระดับประเทศ พร้อมร่วมกันเสริมสร้างการดูแลเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือควรผสมผสานแนวนโยบายการเงินและมาตรการการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก และผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 51 จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างมากของประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่การเติบโตดังกล่าวยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวจากการหดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ และมีแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจากด้านอุปทานและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และตลาดการเงินที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ