(เพิ่มเติม1) นายกฯพร้อมรับข้อเสนอแก้บาทแข็ง/ยืนยันไม่ออกมาตรการช็อคตลาดแน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 16, 2007 19:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับที่ประชุมร่วมกับ 3 สมาคมภาคเอกชนในช่วงเย็นวันนี้ โดยขอให้เอกชนช่วยกันเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทว่ามีแนวทางอย่างไรที่จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ไม่ได้คาดคิด ขณะที่รัฐบาลจะพยายามดูแลการแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด และยืนยันว่าทางการจะไม่ออกมาตรการใด ๆ ที่ช็อคตลาดอย่างแน่นอน
สำหรับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทนั้น เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลจากผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เชื่อว่าขณะนี้ไม่น่าจะมีปัญหาในการดูแล โดยยึดแนวทางสำคัญคือไม่ให้มีความผันผวนมากนัก แต่ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาอย่างชัดเจน เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนของการขอข้อมูลและรวบรวมข้อมูลจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบ
"เราไม่ได้คิดว่าจะแข็งหรืออ่อน แต่ทำอย่างไรให้มีเสถียรภาพ"พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวภายหลังการหารือวันนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดูแลค่าเงินบาท แต่ให้เป็นหน้าที่ของธปท. เพราะขณะนี้ก็ดูแลอย่างเข้มแข็งดีอยู่แล้ว
ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการเงิน การคลังและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่าสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจในขณะนี้ ปรากฎว่าประสบปัญหารายได้กระจุกตัว ประชาชนมีหนี้มาก การบริโภคและการลงทุนลดลง กรรมาธิการฯจึงมีความเห็นว่าไม่อยากให้รัฐบาลดำเนินการโดยการใช้กลไกทางการคลัง เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะประชาชนในระดับล่างไม่สามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้ กรรมาธิการมีความเห็นว่า รัฐบาลควรใช้มาตรการการเงินเข้ามา
สำหรับมาตรการทางการคลัง ที่รัฐบาลนำเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมและทั่วถึง เช่น โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ประกอบกับมีปัญหาราคาน้ำมันผันผวน ค่าเงินบาทแข็งตัว ราคาสินค้าเกษตรลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงด้วยดังนั้นจึงควรมีการประกาศมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
นายสังศิตกล่าวว่า เตรียมเสนอโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ โดยใช้เงินธนาคารรัฐ 4 แห่ง คือ ธ.ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจชุมชน (เอสเอ็มอีแบงก์) และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 116,200 ล้านบาท เนื่องจากมีสภาพคล่องจำนวนมาก หากอาศัยงบประมาณภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ล่าช้า เพราะมีขั้นตอนการอนุมัติที่ยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. เพื่อต้องการให้ชดเชยดอกเบี้ย และความเสี่ยงจากโครงการ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 400 ล้านบาท
“หากนายกฯ เห็นด้วยและสามารถเสนอให้ที่ประชุมครม. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะทุกอย่างเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เนื่องจากคณะทำงานได้วางแผนร่วมกับ 4 แบงก์รัฐมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้นั้นจะต่ำกว่าตลาด แต่ก็ต่ำกว่าไม่มากเพื่อไม่ให้บิดเบือนกลไกตลาด แต่ที่สำคัญไม่ใช่โครงการประชานิยมเหมือนกับสมัยรัฐบาลก่อน เพราะธนาคารจะเข้มงวดการให้สินเชื่อ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงกับผู้กู้เงิน"นายสังศิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ