นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นำเสนอมาอาจจะมีความคล้ายคลึงกับบางมาตรการที่ประเทศมาเลเซียนำมาใช้และมีผลบังคับไปเมื่อ 1 เม.ย.50 จึงน่าจะได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน
มาตรการที่ใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนมีไม่มากนัก ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ มีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินทุนสำรองต่างประเทศอยู่ในระดับสูง พึ่งพาภาคส่งออกเป็นสำคัญ รวมถึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศที่ใกล้เคียงกัน
นายโชติชัย กล่าวว่า การที่มาตรการของมาเลเซียได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แสดงให้เห็นได้จากการที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นเพียง 2.4% เพราะมาเลเซียเปิดโอกาสให้มีการ Recycle เงินออกไปนอกประเทศได้มากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7.3% ทำให้มาตรการของมาเลเซียมีความน่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์กับประเทศอื่นๆ ในการนำไปปรับใช้
สำหรับมาตรการที่มาเลเซียนำมาใช้ ได้แก่ การอนุญาตให้คนในประเทศที่ไม่มีภาระสินเชื่อเป็นสกุลเงินริงกิตสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดวงเงิน รวมทั้งสามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้แต่การให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศแก่คนในและนอกประเทศได้โดยไม่จำกัดจำนวน
“การที่ระบุว่าบุคคลนั้นต้องไม่มีภาระสินเชื่อเป็นริงกิตในประเทศ ก็เพื่อป้องกันการเก็งกำไรจากการ swap เงินกู้ริงกิตเป็นเงินกู้ต่างประเทศ"นายโชติชัย กล่าว
แต่หากบุคคลนั้นมีสินเชื่อสกุลเงินริงกิตในประเทศ ทางการก็ผ่อนปรนให้สามารถเปิดบัญชีเงินฝากเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ล้านริงกิต หรือประมาณ 10 ล้านบาท รวมทั้งสามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้แต่การให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศแก่คนในและนอกประเทศได้ไม่เกิน 10 ล้านริงกิต หรือประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับนิติบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่ในมาเลเซีย สามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลตราต่างประเทศได้อย่างไม่จำกัดจำนวน และยังสามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้แต่การให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศแก่คนในและนอกประเทศโดยไม่จำกัดจำนวนได้ในกรณีที่ไม่มีภาระสินเชื่อสกุลริงกิตในประเทศ
แต่หากมีสินเชื่อสกุลริงกิตในประเทศก็ผ่อนปรนให้สามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ไม่เกิน 50 ล้านริงกิต หรือประมาณ 500 ล้านบาท รวมทั้งสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้แต่การให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศแก่คนในและนอกประเทศได้ไม่เกิน 100 ล้านริงกิต หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ Non-Residence สามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน
มาตรการต่อมา คือ อนุญาตให้นักลงทุนสถาบันสามารถลงทุนสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกิน 50% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ และการอนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลสามารถจ่ายชำระเงินเป็นเงินตราต่างประเทศได้ในกรณีที่มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อลดความต้องการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินริงกิต
นอกจากนี้ ยังประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการดำรงสถานะเปิดของหนี้สินและทรัพย์สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 20% ของเงินกองทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธนาคาร
รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศและ Non-Residence สามารถเปิดบัญชีร่วมเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยไม่มีข้อจำกัดจากเดิมที่กำหนดว่าจะต้องเป็นการเปิดบัญชีร่วมเพื่อการศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศเท่านั้น
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--