นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะประชุมในวันที่ 18 ก.ค.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อเป็นการช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่า
"การลดดอกเบี้ยเป็นมาตรการที่เห็นผลเร็วที่สุดในระยะสั้นที่จะช่วยพยุงบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วและเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่าหากในช่วงไตรมาส 3 ทางการยังไม่สามารถประคองค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ได้ ก็จะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การห้ามผู้ส่งออกไม่ให้ทำ forward คงจะไม่ได้ ตราบใดที่เงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น แต่หากเมื่อใดที่ผู้ส่งออกเชื่อว่าเงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพและเริ่มนิ่งก็คงจะหยุดทำ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเห็นว่าเงินบาทจะเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี แม้การแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง ซึ่งผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเข้ามาเพื่อขยายการผลิตอาจได้รับประโยชน์นั้น แต่การที่สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศได้ เพราะผู้ประกอบการหันไปทำเข้ามากกว่าที่จะซื้อวัตถุดิบจากในประเทศ ดังนั้นภาครัฐต้องเตรียมมาตรการต่างๆ มารองรับไว้ด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--