นายกิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการด้านกฎหมายเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในการเสวนา"ร่างข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน" ว่า ปัจจุบันยังขาดกลไกเปิดเผยการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และระบบควบคุมคุณภาพของสำนักงานบัญชี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในข้อมูลทางการเงินที่มากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ใช้ข้อมูลทางการเงินทราบประโยชน์ในการคัดเลือกผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน และมั่นใจว่าจะทำให้งบการเงินที่ออกมาน่าเชื่อถือและเป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชีบางอย่างของบริษัทจดทะเบียนยังไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ซึ่งมาตรฐานบัญชีของบริษัทจดทะเบียนมีความซับซ้อนมากกว่ามาตรฐานบัญชีทั่วไป และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามมาตรฐานสากล
ดังนั้น ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว คือ ควรต้องเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้สอบบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีเพิ่มเติมจากที่สภาวิชาชีพกำหนด
นอกจากนั้น ก.ล.ต.ควรจะเปิดเผยรายงานเพิ่มเติมอีก 2 รูปแบบ คือ การเปิดเผยผลการตรวจระบบควบคุมคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนแต่ละแห่งในลักษณะภาพรวมต่อสาธารณะ แต่ไม่เปิดเผยในส่วนที่กระทบความลับของลูกค้าสอบบัญชี และเปิดเผยผลการตรวจระบบควบคุมคุณภาพของสำนักสอบบัญชีต่อ Audit Committee ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนและผู้สอบบัญชี
นายเขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยด้านกฎหมายเพื่อการพัฒนา TDRI กล่าวว่า บทลงโทษบางกรณีที่มีผลกระทบต่อผู้สอบบัญชีเป็นสิ่งที่มองว่าควรจะปรับลดบทลงโทษกับผู้สอบบัญชีที่มีการกระทำผิดลงเหลือเพียงการลงโทษโดยการจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน จากปัจจุบันหากผู้สอบบัญชีกระทำผิดมีบทลงโทษที่ส่งผลเสียต่ออาชีพในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตที่ยากลำบากมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ว่าจ้างผู้สอบบัญชีรายนั้นต้องสรรหาผู้สอบบัญชีรายใหม่ รวมถึงกระทบต่อสำนักงานสอบบัญชีที่จะต้องหาผู้สอบบัญชีรายใหม่เข้ามาทำงานแทนด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของพิจารณาอัตราการค่าตอบแทนผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน มองว่าควรเป็นคิดจากขนาดของธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับงาน ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นบริษัทจดทะเบียนจะได้รับประโยชน์ของการจ่ายค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีที่ลดลงจากการคิดอัตราค่าค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีในปัจจุบันที่คิดตามปริมาณงาน
และในส่วนของค่าธรรมเนียมการต่ออายุ หรือ สมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีในปัจจุบันที่มีการต่ออายุสมาชิกทุกๆ 5 ปี มองว่าควรเปลี่ยนเป็นการจ่ายรายปีแทน เพื่อทำให้ผู้สอบบัญชีไม่ต้องนำเงินก้อนมาจ่ายทุกๆ 5 ปี เพราะผู้สอบบัญชีบางรายอาจจะไม่ได้เตรียมตัว ทำให้มีผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานของผู้สอบบัญชีรายนั้นๆ