Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จะหดตัวที่ -1.8%YOY ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2554 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว หลัง GDP แบบ %QOQ sa หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 หดตัวที่ -1.8%YOY เป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 ที่ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วจากการที่เศรษฐกิจหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ sa) ติดต่อกัน 2 ไตรมาส (ไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ -0.2%QOQ sa และไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ -2.2%QOQ sa)" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยภาคการผลิตด้านโรงแรมและภัตตาคารหดตัวไปกว่า -24.1%YOY โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส 2 ที่ -6.7%YOY การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวหดตัวกว่า -29.8%YOY ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปถึง -38.0%YOY ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
ด้านการส่งออกแม้ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรก แต่การขยายตัวส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำที่จะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากหักทองคำมูลค่าการส่งออกจะหดตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง -2.7%YOY โดยเป็นการหดตัวของหลายสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ข้าว รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกได้รับผลบวกจากการบริโภคสินค้าจำเป็น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าก่อนที่จะมีการปิดเมือง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในบ้านและการทำงานที่บ้านมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เฟอร์นิเจอร์ และการสื่อสาร (ค่าอินเทอร์เน็ต) เป็นต้น โดยสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้ดีจากความต้องการสินค้าที่มีมากขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว -5.5%YOY หลังจากขยายตัว 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวทั้งในส่วนของลงทุนก่อสร้าง (-4.3%YOY) และลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร (-5.7%YOY) โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากความล่าช้าของการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายอุปโภคบริโภคของรัฐบาลดลง -2.7%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -9.3%YOY ปัจจัยหลักมาจากการก่อสร้างของรัฐบาลที่หดตัวสูงถึง -29.6%YOY แม้จะมีการขยายตัวของการก่อสร้างรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 20.8%YOY ส่วนด้านการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรภาครัฐขยายตัวที่ 4.2%YOY
ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง 3.0%YOY โดยการขยายตัวมาจากใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทน ขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนและกึ่งคงทนมีการหดตัวลงตามกำลังซื้อของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง และผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มส่งผลในช่วงปลายไตรมาส
ในด้านการผลิตภาคเกษตรหดตัวมากจากผลของภัยแล้ง ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวตามการส่งออก ส่วนด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการหดตัวในระดับสูง ขณะที่การก่อสร้างหดตัวมากจากทั้งการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนและภาครัฐ โดยภาคการเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส 2 ที่ -5.7%YOY จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลง อาทิ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น
การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส 3 ที่ -2.7%YOY ตามการลดลงของภาคส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างซบเซา โดยสินค้าสำคัญที่การผลิตหดตัว เช่น ยานยนต์ อาหาร การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และยางและพลาสติก
สาขาที่พักแรมและอาหารพลิกกลับมาหดตัวสูงถึง -24.1%YOY หลังจากขยายตัว 6.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก
สาขาการขนส่งและจัดเก็บสินค้าลดลง -6.0%YOY โดยปัจจัยสำคัญมาจากการการหดตัวของการขนส่งทางบก (-4.2%YOY) และการขนส่งทางอากาศ (-20.8%YOY) ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง รวมถึงปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
ก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ -9.9%YOY ทั้งจากการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และภาครัฐจากการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้า
อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายสาขายังขยายตัวแม้จะชะลอลง โดยสาขาสำคัญได้แก่ การขายส่งและขายปลีกที่ขยายตัว 4.5%YOY ชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวที่ชะลอลงได้รับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จากมาตรการปิดเมืองทั่วโลกทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทยผ่านเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิต คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงสำคัญหากไวรัสโควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำอีกระลอก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้
"SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานสำคัญว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของโควิด-19 แม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาส 2 (%QoQ sa เป็นบวก) แต่หากคำนวณเทียบกับปีก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวทั้งปี 2563 (%YOY เป็นลบ)" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก EIC จึงยังคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2/2563 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้