นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ว่า ที่ประชุมฯ ได้กำชับให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เร่งรัดดำเนินการให้สามารถเปิดใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ รฟม. และบัตร Rabbit ของ BTS ร่วมกันได้ตามแผนภายในเดือน ต.ค.นี้ รวมถึงหาข้อสรุปรายละเอียดในเรื่องค่าธรรมเนียมร่วมกันด้วย
เนื่องจากมีการรายงานว่าบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Interoperability ในระยะเร่งด่วน ซึ่งอยู่ประเทศสิงคโป ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การใช้บัตรข้ามระบบอาจล่าช้าออกไปจากแผน ซึ่งทางสิงคโปร์ระบุว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2563
ด้าน นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความเรียบร้อย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ขณะที่ สนข.จะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) บริหารจัดการบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน
สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (แมงมุม 2.5) ซึ่งกรมบัญชีกลางออกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีประมาณ 1.1 ล้านใบ โดยสามารถใช้ชำระค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน และรถไฟฟ้า MRT BTS และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้นั้นจะหมดอายุในเดือน ต.ค.65 จะมีการเปลี่ยนบัตรสวัสดิการทั้งหมดเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยตัวบัตรจะเปลี่ยนเป็นระบบ EMV ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card)
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ขอให้เพิ่มสิทธิในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถโดยสารเอกชนใน 14 เส้นทางที่บขส.ไม่ได้วิ่งให้บริการ ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอให้ใช้บัตรกับรถร่วมเอกชนได้ฯ ซึ่งกรมบัญชีกลาง ให้รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมที่มี รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณา