นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า ช่วงปลายปีนี้เงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าไปถึง 32 บาท/ดอลลาร์ หากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และจากการตรวจสอบพบว่าเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าขึ้นยังไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ แต่เป็นเพียงการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น
การส่งออกของไทยในปีหน้าคาดว่าจะได้รับผลกระทบจนเกิดภาวะขาดดุลการค้าและนักลงทุนจะถอนเงินทุนออกไป จนเงินบาทอาจกลับไปอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงปีหน้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% ภายในปีนี้ เพื่อลดปัญหาเงินบาทที่แข็งค่ารวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยจะประชุมร่วมกับสมาชิกเพื่อประเมินถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรักษาฐานลูกค้า และให้การส่งออกของไทยปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะเติบโต 12.5%
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยการประกันความเสี่ยงล่วงหน้า และหาตลาดส่งออกใหม่ทดแทนตลาดหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากการหารือกับธปท.พบว่าเงินบาทยังมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ประกอบกับในระยะนี้ไทยมียอดเกินดุลการค้ามาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเช่น จีน และเวียดนามได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศต่างตรึงค่าเงินไว้เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกของประเทศ โดยอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
นายสันติ ยอมรับว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัวลง ซึ่งเป็นเพราะนักลงทุนจากต่างประเทศต่างจับตาสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งหากการเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้นนักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นกลับมาและเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--