ธปท.มองบาทแข็งจากเงินไหลเข้าไม่เกี่ยวมาตรการใหม่/เตือนอย่าตื่นขายดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 10, 2007 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาค จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เงินบาทถูกดดันให้แข็งค่าขึ้น แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเงินลงทุนดังกล่าวได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจก็จะถูกนำออกไปในที่สุด ดังนั้น ขณะนี้ผู้ส่งออกจึงไม่ควรตื่นตระหนกเทขายดอลลาร์ เพราะจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น 
"ประเด็นสำคัญคือเงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นก็จะเข้ามาช่วงหนึ่ง เมื่อขึ้นไปเยอะ ๆ ต่อเนื่อง เขาก็จะกลับไปของเขาเอง เมื่อถึงจุดนั้นก็คงชะลอลง ประเด็นคือไม่อยากให้ผู้ส่งออกแตกตื่นเร่งขายดอลล์ เพราะทำให้เงินบาทแข็งค่าโดยไม่จำเป็น"นางธาริษา กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ FM 98 เช้านี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทวานนี้ไม่ใช่ผลจากมาตรการที่ ธปท.ได้นำออกมาใช้เมื่อวานนี้คือการอนุญาตให้บัญชีเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non Resident: NR)ย้ายการทำ Hedging จากตลาดเงินบาทต่างประเทศ (ออฟชอร์) มาเป็นตลาดเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) เพื่อลดความผันผวนของเงินบาทในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้เงินยังไม่เข้ามา และเป็นการซื้อและขายล่วงหน้าเงินบาทพร้อมกัน จึงไม่มีผลต่อค่าเงิน
"อาจจะมีความกังวลว่าถ้าอย่างนั้นมาซื้อเงินบาทในประเทศจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือไม่ แต่เป็นการทำสองขา ถ้าซื้อเงินบาทอย่างเดียวแล้วจบกันไปก็จะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท แต่สิ่งที่จะให้ทำคือซื้อและขายล่วงหน้าเอาไว้ เพราะฉะนั้นจึงไม่กระทบ คือทำสองขาพร้อมกัน ก็คือการป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง ค่าเงินบาทก็จะไม่กระทบ"นางธาริษา กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า แม้จะมีเงินไหลเข้ามาค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีแรงอีกข้างหนึ่งมาถ่วงดุลมากกว่าในอดีต เนื่องจากผู้นำเข้ามีการซื้อดอลลาร์ ทำให้ตลาดมีความสมดุลมากขึ้น โดยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาตัวเลขนำเข้าสูงขึ้น เพราะเริ่มมีการซื้อของจากต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเป็นแนวโน้มที่เห็นชัดเจนมากขึ้นอีก เนื่องจากขณะนี้การใช้กำลังการผลิตค่อนข้างสูงถึง 76% จึงน่าจะถึงจุดที่จะต้องมีการลงทุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงที่ทำให้มีการซื้อดอลลาร์มกาขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการออกไปลงทุนโดยตรง หรือลงทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีมากขึ้น
นางธาริษา ยังกล่าวถึงแนวโน้มการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ว่า กนง.คงจะต้องพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเพื่อดูว่าตั้งแต่ต้นปีที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้วหลายครั้งได้ส่งผลผ่านไปถึงจุดไหนแล้วบ้าง รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันล่าสุดเป็นอย่างไร ต้องประเมินว่าเป็นความเสี่ยงช่วงสั้นๆ หรือยาว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การที่ดอกเบี้ยถูกลงมาก็มีแนวคิดว่าเงินจะไม่เข้ามาหรือเข้ามาน้อยลง น่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาของตลาดตราสารหนี้ หรือบางครั้งผู้ลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นอาจมองว่าตลาดน่าจะสดใสมากขึ้น ก็อาจจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น อาจเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทก็ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้แต่ในทางทฤษฎีก็อธิบายได้ทั้งสองอย่าง แต่เมื่อหักกลบกันแล้วก็ไม่น่าจะมีผลมากเท่าไหร่ ดังนั้น การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยควรจะคิดถึงการเป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจและเสถียรภาพมากกว่าที่จะผูกติดกับเรื่องของค่าเงิน
พร้อมกันนั้น นางธาริษา ยังกล่าวเตือนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นว่าควรให้ความระมัดระวังกับความเสี่ยงให้มากขึ้นในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
"อะไรก็ตามที่ผันผวนคือความที่น่ากลัว มาเร็วก็ไปเร็ว มาแรงก็ไปแรงก็ได้ แต่มันอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้าเกิดอย่างนั้นขึ้น ก็น่ากลัว ไม่เฉพาะตลาดหุ้น อะไรก็ตามที่ผันผวนมาก ๆ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องของความเสี่ยงมากขึ้น"นางธาริษา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ