นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ระดับ 75.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนมี.ค.63 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เม.ย.52 เป็นการปรับตัวลดลงในทุกขนาดของอุตสาหกรรมทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคลดลงโดยเฉพาะสินค้าคงทน ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายชะลอการผลิต การลงทุน และลดการจ้างงาน อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อในภาคเกษตร
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,102 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนเม.ย.63 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกังวลว่าเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, อัตราแลกเปลี่ยนในมุมมองของผู้ส่งออก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 88.8 โดยลดลงจาก 96.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งค่าดัชนีฯ ต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.52 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงภายหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก และยังไม่แน่ชัดว่าวิกฤติโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. ขอให้พิจารณาคืนเงินประกันไฟฟ้าให้กับธุรกิจ SMEs ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการช่วงโควิด-19 2. ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SMEs เป็นเวลา 3 ปีทุกธุรกิจ (ปีภาษี 2563-2565)