ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2563 วันที่ 20 พ.ค. 63 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที หลังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อปีนี้หดตัวมากกว่าคาด
ขณะที่ 3 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
"กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว" นายทิตนันทิ์ระบุ
คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อ การสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาด ตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ด้านภาวะการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลัง ธปท. ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้
ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน หลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าและให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
เลขานุการ กนง. กล่าวเพิ่มเติมว่า กนง. ประเมินว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจด้านลบยังมีอยู่สูง โดยได้พิจารณา scenario-planning หลายกรณี สำหรับปัจจัยสำคัญที่ กนง. ติดตาม ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศ, การระบาดของโควิด-19 รอบสอง, ประสิทธิผลของมาตรการการคลังรวมถึงมาตรการการเงินและสินเชื่อ, สถานการณ์การจ้างงานในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าและกระทบต่อเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ กนง. เห็นว่านโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
สำหรับการติดตามปัญหาเสถียรภาพของหนี้ครัวเรือน และ SMEs ที่ด้อยคุณภาพลงมากนั้น กนง. มองว่าครัวเรือนและ SMEs ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด-19 และเห็นว่ามีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ หลังมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง จึงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งรวมถึงสินเชื่อ soft loan ของ ธปท., สินเชื่อ soft loan ของธนาคารออมสิน และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านฐานะการเงินของลูกหนี้
นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะต่อไป คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการว่างงานในระดับสูง และการช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs มีรายได้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาฐานะทางการเงิน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นแผลเป็น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจะช้าลง และส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาว