(เพิ่มเติม) ภาคเอกชนเตือนรัฐเร่งสร้างเสถียรภาพเงินบาท หวั่นไหลไปที่ 33 สร้างผลเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2007 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุรัฐบาลต้องเร่งเข้าไปดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ หลังเกิดปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการควบคุมแล้วปล่อยให้ค่าเงินบาทไหลไปกว่า 33 บาท(ต่อดอลลาร์)จะมี effect ที่รุนแรงและส่งผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีแรงงานทั่วประเทศกว่า 8 แสนคน" นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ปัญหาเงินบาทแข็งค่ายังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงให้ทยอยล้มหายตายจากไปในที่สุด เพราะไม่สามารถที่จะยืนหยัดอยู่รอได้นานพอที่จะให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าจะมีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าที่รับจ้างผลิตโดยใช้แรงงานในประเทศ และธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ขอให้รัฐเร่งเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท หามาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น เร่งออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านการลงทุนและรองรับการปรับตัวด้านเศรษฐกิจ ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้ใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใหรัฐบาลเร่งกำหนดกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากภาวะที่เงินบาทแข็งค่า
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะนี้ เปรียบเหมือนการส่งสัญญาณที่ไม่ดีกับภาวะเศรษฐกิจของไทย เพราะยิ่งเงินบาทแข็งค่าจะทำให้การส่งออกชะลอตัว
ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางจากที่ประชาชนเริ่มวิตกถึงปัญหาการเลิกจ้างงานที่อาจจะมีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลับมาตระหนักถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
ดังนั้น ปัจจัยเดียวที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงได้ คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยต้องดูแลให้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
"ตอนนี้เหมือนการเปิดสัญญาณเตือนภัยในระดับสีส้ม เพราะไม่มีใครคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าเร็วอย่างนี้...เงินบาทแข็ง ส่งออกก็เริ่มซึมตัว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเปราะบางเพราะคนเริ่มวิตกกับปัญหาการว่างงาน และหันมามองว่ามีโอกาสจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อีกครั้ง ทั้งตัวเลขการส่งออก, การใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคในประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีผลกระทบ โดยเฉพาะ การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจไม่ฟื้นตัวขึ้นทันได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ตามที่เคยคาดไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ